“ชัชชาติ” ถอดโมเดล กทม. รุกนวัตกรรมเปลี่ยนกรุง

28 มิ.ย. 2566 | 09:27 น.

“ชัชชาติ” ถอดโมเดลโครงการแยกขยะ-ติดหลอดไฟ LED IoT ดันเทคโนโลยีนวัตกรรมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 3% ต่อปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในงานสัมมนา Climate Tech Forum : Infinite Innovation...Connecting Business to Net Zero ช่วง นวัตกรรมเปลี่ยนกรุง ว่า ปัจจุบันกทม.มีประชาชนอาศัยประมาณ 10 ล้านคน หากนำเอาเทคโนโลยีนำทางคงยาก แต่หากมองนวัตกรรมอยากให้ปรับมายด์เซ็ตก่อนว่านวัตกรรมคือการเปลี่ยนความคิดให้มีมูลค่าที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่จำเป็นต้องมีไฮเทค แต่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตคน และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับคนในเมืองได้

นายชัชชาติ  กล่าวต่อว่า อย่าไปยึดติดกับอินโนเวชัน ที่เป็นเทคโนโลยี ที่ผ่านมาพบว่ามีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ไม่ได้มาจากอินโนเวชัน ปัจจุบันกรุงเทพฯมีขยะประมาณ 10,000 ตัน ที่ส่งกลิ่นเหม็นมาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักนำขยะมาทิ้งปนกัน ทำให้เรามีแนวคิดที่จะแยกขยะอย่างไรโดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งมีการนำโครงการแยกขยะ โดยมีการติดตั้งถังขยะเปียกและถังขยะแห้งบนรถขยะ สามารถลดขยะได้ประมาณ 1,000 ตันต่อปี และลดปริมาณขยะฝังกลบ ประมาณ 300-700 ตันต่อวัน ช่วยประหยัดงบประมาณจากการเก็บขยะราว 85 ล้านบาท
 

“หากพูดถึง ความยั่งยืน คือการไม่เบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ปัจจุบัน อย่าไปตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยใช้ทรัพยากรในอนาคตของคนรุ่นใหม่” 

“ชัชชาติ” ถอดโมเดล กทม. รุกนวัตกรรมเปลี่ยนกรุง

นายชัชชาติ  กล่าวต่อว่า  เห็นได้ชัดว่าเด็กรุ่นใหม่ตายเพราะ Climate Change โดยในปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ในปีนี้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าเดิม จนเกิดภาวะน้ำแล้งหนัก กระทบต่อชาวนาไม่มีน้ำเพียงพอในการทำนากว่า 100,000 ไร่ ในกรุงเทพฯ ขณะนี้กทม.มีปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ ราว 120 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะเกิดภาวะน้ำแล้วไปอีก 4 ปี ซึ่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น อ้อย ข้าว ฯลฯ 
 

ขณะที่สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ มาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.การใช้พลังงาน คิดเป็น 58.9% 2.การขนส่ง คิดเป็น 28.9% 3.น้ำเสียและมูลฝอย คิดเป็น 12.3% หากต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกต้องลดทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว ทั้งนี้เป้าหมายของกทม.ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ราว 19% ภายในปี 2573  และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยในแต่ละปีต้องลดให้ได้ 3% ต่อปี 

“ชัชชาติ” ถอดโมเดล กทม. รุกนวัตกรรมเปลี่ยนกรุง

นายชัชชาติ  กล่าวต่อว่า  ปัญหาที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ คือ เน็ตซีโร่ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ที่สนใจในเรื่องนี้จะเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น ปตท.,BCG ฯลฯ เพราะมีงบประมาณทำวิจัยต่างๆเกี่ยวกับเน็ตซีโร่ แต่กทม.มองว่าควรแบ่งระยะเวลาเป้าหมายให้สั้นลงเพื่อทำให้ทุกๆปีมีความหมาย หากตั้งเป้าภายใน 20 ปีจะเข้าสู่เน็ตซีโร่เชื่อว่าไม่มีใครให้ความสนใจ เพราะในอนาคตไม่มีความแน่นอน แต่ถ้าตั้งเป้าในแต่ละปีต้องเข้าสู่เน็ตซีโร่ให้ได้ 3% ต่อปี ซึ่งจะมีความเป็นไปได้มากกว่า 

ขณะเดียวกันกทม.มองว่าการปรับเสาไฟฟ้า LED IoT  ให้เป็นตัวกลาง ในการเชื่อม Smart Device ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถกระจายสัญญาณบริเวณใกล้เคียงได้ ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์จุดเสี่ยงจุดมืดของเมือง ,จับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมาย ,หาจุดเปราะบางที่ต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณภัย และแสดงจุดที่มีโครงสร้างพื้นฐานเมืองเสียหาย หากในอนาคตมีหลอดไฟ LED ประมาณ 100,000 ดวง ภายในกรุงเทพฯ ร่วมกับแพลตฟอร์มดังกล่าว จะช่วยบริหารจัดการในสมาร์ทซิตี้ได้ นำไปสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 


  นอกจากนี้กทม.ยังร่วมมือกับเอกชนติดตั้งออกซิเจนบำบัดน้ำบริเวณสวนเบญจกิติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหากลิ่นเหม็นของน้ำในบึงบริเวณสวนเบญจกิติได้เมื่อเทียบกับการใช้วิธีปกติ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ในพื้นที่อื่นๆของกรุงเทพฯด้วย