“นิสสัน” เร่งสู่ Net Zero ปรับแผนเร็วกว่าเป้า 15 ปี

06 พ.ค. 2566 | 09:45 น.

“นิสสัน ประเทศไทย” ประกาศความพร้อมขยับเป้าหมายเดินหน้าสู่องค์กร Net Zero 2035 เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 15 ปี ชูแนวทางลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน พร้อมเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และ ประธาน นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า นิสสันในประเทศไทยมุ่งมั่นในการผลักดันเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังให้พนักงานตระหนักรู้ และร่วมมือกันลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง โดยล่าสุดได้ขยับเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จากปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) มาเป็นปี ค.ศ.2035 (พ.ศ.2578) หรือเร็วขึ้นจากเป้าหมายเดิม 15 ปี

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว นิสสัน ประเทศไทย ได้วางมาตรการทั้งในส่วนของสำนักงานและโรงงานผลิตเพื่อความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ 1. คัดแยกขยะ (Waste Separation) นิสสันได้ส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องทั้งในสำนักงานและโรงงานผลิต โดยแยกป็น ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะเปียก และขยะอันตราย ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ จะนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้นำกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ส่วนขยะที่เหลือ จะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดปริมาณการเผาไหม้และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

“นิสสัน”  เร่งสู่ Net Zero ปรับแผนเร็วกว่าเป้า 15 ปี

2.การรีไซเคิลนํ้าเพื่อให้การปล่อยนํ้าเสียเป็นศูนย์ (Water Recycling and Zero Water Discharge) ได้เริ่มใช้ระบบบำบัดนํ้าเสียและการหมุนเวียนนํ้ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่โรงงาน 2 ซึ่งเป็นสายการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก โดยเริ่มจากการนำเทคโนโลยีบำบัดนํ้าเสียแบบ Recycle Reverse Osmosis System มาใช้ในโรงงาน ช่วยให้นำนํ้าเสียจากกระบวนการผลิตที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับประโยชน์จากการนำนํ้าที่รีไซเคิลแล้ววันละกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรมาใช้ในโรงงาน

3.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่าน Tree Planting Project นิสสัน ได้จัดกิจกรรมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่โรงงานบนถนนบางนา-ตราด ก.ม. 21 และ 22 จ.สมุทรปราการ เพื่อเพิ่มอากาศบริสุทธิ์และพื้นที่สีเขียวให้กับสังคม ปัจจุบันพนักงานของนิสสันได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 900 ต้น ช่วยดูดซับ (absorb) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ 937 ตันต่อปี และดูดซับ PM2.5 ได้ 1,311 กิโลกรัมต่อปี และยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างต่อเนื่อง

4.ติดตั้งโซลาเซลล์บนหลังคา (Solar rooftop project) นิสสันติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา พื้นที่มากกว่า 60,000 ตารางเมตร มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้สูงถึง 5.5 เมกะวัตต์ ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5,100 ตันต่อปี ทำให้นิสสันเป็นหนึ่งในโรงงานในประเทศไทยที่มีฐานการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด และสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์

“กระบวนการทำงานและการผลิต รวมถึงการการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของนิสสันทั้งหมด ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สร้างกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและหลีกเลี่ยงการเกิดมลภาวะโดยไม่จำเป็น เพื่อผลักดันเป้าหมายการสร้างสังคมคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutral) อย่างเต็มที่ โดยในแต่ละปีได้มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯเฉลี่ยราว 3,575 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

นายอิซาโอะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นิสสัน มอเตอร์ ยังกำหนดเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จากทั้งกระบวนการผลิต และวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ของบริษัทซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์นิสสันทุกรุ่นที่จะออกสู่ตลาดภายในช่วงต้นปี ค.ศ. 2030 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100%

ทั้งนี้ นิสสันจะดำเนินการต่อยอดนวัตกรรมด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้ารวมถึงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่ นวัตกรรมของแบตเตอรี่ รวมถึง แบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต (solid-state) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

การพัฒนาเพิ่มในส่วนของระบบขับเคลื่อนภายใต้เทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดียิ่งขึ้น การพัฒนาระบบนิเวศของการใช้แบตเตอรี่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าโดยตรงจากอาคารด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากส่วนกลาง นิสสันหวังว่าจะได้ร่วมมือกับภาคพลังงานในการสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนจากระบบเครือข่ายพลังงาน หรือ power grids

 สร้างนวัตกรรมด้านกระบวน การผลิต เพื่อให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้น เริ่มต้นที่โครงการริเริ่มอย่างโรงงานอัจฉริยะนิสสัน (Nissan Intelligent Factory) พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและด้านวัสดุเพื่อสนับสนุนพันธกิจลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3884 วันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566