รัฐบาลหนุนปลูกป่าชายเลน สร้างประโยชน์จาก "คาร์บอนเครดิต"

17 เม.ย. 2566 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2566 | 10:34 น.

รัฐบาลดันโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จาก "คาร์บอนเครดิต" แก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้ เช็คข้อมูลล่าสุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

ปัจจุบันประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิธีสารโตเกียว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมจะยกระดับการดำเนินงาน

เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งดำเนินการรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 

พร้อมทั้งขอความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปลูกป่าชายเลนขายคาร์บอนเครดิต

ไม่นานมานี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 

  • คาร์บอนเครดิตสำหรับบุคลากรภายนอก 
  • คาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน 

โดยมีเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมฯเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่

อีกทั้งยังซักซ้อมกรอบแนวทาง ติดตามภารกิจ รวมถึงสรุปปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตทั้ง 2 ลักษณะ เพื่อร่วมกำหนดการขับเคลื่อนแผนงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบโครงการดังกล่าวแล้ว

กางเป้าเพิ่มป่าชายเลน 3 แสนไร่

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2574

พร้อมทั้งออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและยังสามารถรักษาสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย 

รัฐบาลพร้อมหาทางสนับสนุน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน และคนรุ่นหลัง การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นนโยบายสำคัญเพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการใช้ คาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

ทั้งนี้เพราะป่าชายเลนถือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญยิ่ง สอดคล้องกับแนวทางการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศแบบสมดุลเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย