ชไนเดอร์ฯ ปลุกกระแส “องค์กรลดคาร์บอน”เติบโตยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี

22 มี.ค. 2566 | 04:47 น.

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ปลุกกระแส “องค์กรลดคาร์บอน” เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี และ 6 พันธกิจสำคัญบนแนวคิด ESG ที่เป็นกระแสหลักของการพัฒนาองค์กรธุรกิจในขณะนี้

 

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการจัดการพลังงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการเสวนา Exclusive insinght sustainability Talk จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ X Schneider Electric  ที่ โรงแรมสินธร เคมปินสกี กรุงเทพ เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (sustainability) ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่อง “ต้องทำ” เพื่อให้องค์กรธุรกิจดำเนินการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับโลกแห่งอนาคต

โดยในส่วนของชไนเดอร์ฯ เองนั้น ใช้ เทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงานและนวัตกรรมออโตเมชัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งในองค์กร และยังช่วยลูกค้าบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการลดคาร์บอนมาแล้วทั่วโลก กระทั่งล่าสุดได้รับยกย่องเป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในโลก 12 ปีซ้อน พร้อมคว้าอันดับ 1 ในธุรกิจเดียวกันทั่วโลกใน Global 100 Most Sustainable Corporations (จัดโดย Corporate Knights) ด้วยโซลูชันและบริการของบริษัท ที่ช่วยให้ลูกค้าลดคาร์บอน ได้มากกว่า 90 ล้านตัน ในปี 2565ที่ผ่านมา

สเตฟาน นูสส์ (Stephane NUSS) ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค พร้อมด้วย กเว็นนาเอล อาวิส เอว็ท (Gwenaelle Avice-Huet) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และความความยั่งยืน ร่วมกันนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของชไนเดอร์ อิเล็คทริค โดยระบุว่า ชไนเดอร์ฯ เองมีความมุ่งมั่นและถือเป็นพันธกิจหลัก ที่จะผลักดันองค์กรธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าว่าภายในปีค.ศ. 2050 จะขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น Net zero สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

ทั้งนี้ บริษัทมี พันธกิจ 6 ประการ เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาระยาวที่ชไนเดอร์ฯ มุ่งมั่นให้ความสำคัญ คือ

  1. เรื่องของ Climate (สภาพภูมิอากาศ)
  2. Resources (ทรัพยากร)
  3. equality (ความเท่าเทียม)
  4. generations (เรื่องช่วงวัยต่างๆ)
  5. trust (ความเชื่อใจ-ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์)
  6. และ Local (ท้องถิ่น)

“ทุกอย่างจะอยู่บนหลักการของแนวคิด ESG หรือ Environment, Social, และ Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ขอย้ำว่าประเด็นเหล่านี้ ต้องทำทันที ทำเดี๋ยวนี้ ไม่มีเวลาสำหรับ คำว่า รอ อีกต่อไป ที่สำคัญจะทำคนเดียวไม่ได้  ทำหน่วยงานเดียว หรือบริษัทเดียวไม่ได้ แต่ทั้งทางรัฐ เอกชน และภาคประชาชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) ต้องช่วยกันด้วย”

กเว็นนาเอล อาวิส เอว็ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และความความยั่งยืน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

กเว็นนาเอล กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลายองค์กร โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก อาจจะกังวลว่า การตั้งเป้าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนและมีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอน เป็นเรื่องยุ่งยากและต้องใช้ต้นทุนสูง แต่เอาจริงๆแล้ว เรื่องการลงทุนในเบื้องต้นนั้น อยากจะเปรียบให้เห็นว่า เหมือนกับการที่องค์กรธุรกิจเริ่มนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ใหม่ๆ ตอนนั้น ใครๆก็คิดว่าต้องลงทุน แล้วมันจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว ทุกองค์กรก็ลงทุนนำคอมพิวเตอร์มาใช้ ไม่มีองค์กรไหน ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในเวลานี้ ซึ่งซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยคาร์บอนก็เช่นกัน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ทุกองค์กรจะใช้หรือไม่ใช้ เพราะจริงๆแล้ว มันเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” "ต้องใช้" ประเด็นอยู่ที่ว่า จะลงมือทำ “เมื่อไหร่”เท่านั้นเอง

“ถามว่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะทำได้หรือไม่ ถ้าพูดในแง่เทคโนโลยีดิจิทัลก็ต้องขอบอกว่า เกือบทุกองค์กรมีเทคโนโลยีดิจิทัลใช้อยู่แล้ว เหมือนเป็นจุดๆหนึ่ง เราเพียงต้องลากเส้นต่อจุดที่มีอยู่นี้ เชื่อมเข้ากับจุดของเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้นเอง เราเพียงต้องต่อเชื่อมเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน”

ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2018 (พ.ศ.2561) ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ช่วยให้ลูกค้าของบริษัททั่วโลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้แล้ว 440 ล้านตัน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา (2022) เพียงปีเดียวสามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ถึง 90 ล้านตัน นั่นหมายความว่า ช่วยให้องค์กรดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมโลกก็ยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย เพราะการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้โลกอยู่รอด

ทั้งนี้ บริษัทเองสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้สูงสุดตลอดปีที่ผ่านมา ที่ 34,176 ล้านยูโร โตขึ้น 12 % (organic growth) จากปีก่อนหน้า (2021) และยังถูกจัดอยู่ในทำเนียบ “100 Most Sustainable Corporations” ประจำปี 2566 ซึ่งนับเป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 12 และเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน จากการจัดอันดับโดย Corporate Knights

วิทยากรและผู้เข้าร่วมเวทีสัมมนา Exclusive insinght sustainability Talk จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ X Schneider Electric  และเครือเนชั่น ที่โรงแรมสินธร เคมปินสกี กรุงเทพ

ในส่วนของผู้ร่วมเวทีเสวนา “ฉาย บุนนาค” ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  เนชั่น กรุ๊ป  แสดงความเห็นว่า การทำธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องเงิน เรื่องตัวเลข หรือการทำกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวที่จะเป็นตัวพิสูจน์ความสำเร็จ แต่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงคู่แข่งเพื่อสร้างธุรกิจที่ดี เป็น “healthy industry”  สำหรับเนชั่นในฐานะเป็นบริษัทสื่อ ที่ได้เริ่มรณรงค์เกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” มาเกือบสามปีแล้ว มีการจัดงานสัมมนาและพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อนี้ (sustainability) มากกว่า 4 ครั้งต่อปี

“เราตั้งเป้าว่าจะต้องประกาศแผนเกี่ยวกับ ESG ในไตรมาสที่สอง หมายถึงในอีกประมาณสามเดือน เรากำลังทำงานร่วมกับวท. เราได้ตั้งคณะกรรมการหรือ ESG เรียบร้อยแล้ว นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และเราขอขอบคุณ Schneider ในวันนี้ที่จัดการพูดคุยเชิงลึกสุดพิเศษกับเราในวันนี้ และเราหวังว่าจะมีการพูดคุยเช่นนี้อีกในอนาคต” ผู้บริหารของเนชั่นกล่าว

ในงานเดียวกันนี้ “อมร ทรัพย์ทวีกุล” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ประเด็น sustainability หรือความยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ของสังคมไทย ต้องเติมความรู้ผู้คนให้มาก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ และต้องทำให้คนตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องใช้ทุกอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม และทำไมเราต้องใช้ทุกอย่างเพื่อความยั่งยืน ในช่วงแรกๆนี้ หลายคนอาจไม่อยากร่วมกระแสเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะได้อะไรจากเรื่องนี้ จึงเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องสร้างระบบหรือกลไกขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องการลดคาร์บอนให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจว่าตนเองจะได้ประโยชน์อะไร (เช่น ได้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนสูงมากนัก) และขณะเดียวกันถ้าไม่ลด จะต้องเสียอะไร ถ้าคนเห็นประโยชน์แล้วก็จะอยากเข้ามาร่วมมากขึ้น

ด้าน “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจาก NR Instant Produce PLC. ผู้ผลิตอาหารจากโปรตีนพืชรายแรก ๆ ในไทย กล่าวว่า ถ้าอยากสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือการลดคาร์บอนเป็น Net Zero คือ ต้องมีระบบใหม่ และที่สำคัญคือต้องมีการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคการเงินการธนาคาร

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาที่ยังสูงเกินไปสำหรับโซลูชั่นด้านพลังงาน เช่น Hydrogen technology ซึ่งยังมีราคาแพง ขณะที่ซัพพลายเชนของบางธุรกิจไม่ได้เข้าใจภาพของความยั่งยืนรวมทั้งความสำคัญ ซึ่งความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายได้นั้น ส่วนหนึ่งคือต้องเปลี่ยนทั้งวงจรธุรกิจ ดังนั้น นักธุรกิจบางคนยังมองว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจในการทำความเข้าใจและลงมือทำเกี่ยวกับความยั่งยืน ดังนั้น การให้ข้อมูลและการฝึกอบรม การสร้างความเข้าใจและสร้างความรู้ จึงเป็นก้าวแรกที่จะต้องเริ่มขึ้น

ขณะที่ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Bitkup Capital Group Holding ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องของความยั่งยืนสำหรับธุรกิจว่า

ต้องมีกลไกการให้รางวัลและการลงโทษ (Carrot and Stick ) และจะบรรลุสิ่งนี้ได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในระดับโลก เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และข้อมูลเชิงลึก ประการแรกคือเราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยการบริโภคที่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็ก พวกเขาต้องการผลผลิตมากขึ้น แต่กลับถูกควบคุมไม่ให้เพิ่มผลผลิต และอย่างที่สองคือ Insights คือเราต้องการเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศที่สามารถเข้าถึงได้ ยุโรปกำลังกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก แต่มีความไม่เท่าเทียมกันนี้ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา  และเพื่อให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ เราจำเป็นต้องใช้ Economy of Scale ซึ่งต้องมีใครสักคนที่ได้รับผลกระทบ

ตัวอย่างเช่น บิล เกตส์ เขาจ่ายเงินเพิ่ม 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพียงเพื่อซื้อเชื้อเพลิงการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  บิล เกตส์อาจจ่ายได้ แต่ไม่ใช่คนอื่น บริษัทเกี่ยวกับการบินบอกว่า 30% ของเที่ยวบินทั้งหมดมาจากการเดินทางเพื่อธุรกิจขององค์กร “ลองนึกดูว่าถ้าเราใช้กลยุทธ์แครอทกับไม้ โดยบอกว่าบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดที่มีสัดส่วน 30% ของเที่ยวบินต้องซื้อการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตร) แม้แพงขึ้นเล็กน้อย แต่เพียงเพื่อลดต้นทุนเพื่อให้ทุกคนสามารถประหยัดได้มากขึ้น ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าการบริโภคน้อยลงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

“สิ่งที่เราต้องการคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต้นทุนลดลง และที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ ต้นทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสูงมากในหลายอุตสาหกรรม หลายประเทศจะไม่ซื้อปูนซีเมนต์เขียว (green cement ปูนซีเมนต์ที่นำวัสดุเหลือใช้ หรือการนำวัสดุจากธรรมชาติมาผสม เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อน) เนื่องจากปูนซีเมนต์เขียวมีราคาแพงกว่าปูนแบบดั้งเดิมถึงสองเท่า ดังนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย คือต้องแน่ใจว่าซีเมนต์เขียวมีราคาถูกกว่าและประหยัดกว่า เพราะทุกคนต่างอยากให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด และคุณต้องการความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพื่อลดต้นทุนดังกล่าว ต้องนำกลยุทธ์การให้รางวัลและการลงโทษมาใช้ เราต้องการระบบแรงจูงใจใหม่นี้ในระดับโลก” จิรายุสกล่าว