“ไทยเบฟ” กางแผนความยั่งยืน ทุ่ม 8 พันล้านสู่ NET ZERO

17 ธ.ค. 2565 | 05:17 น.

กลุ่มไทยเบฟ มุ่งสู่ Net Zero ปี 2583 ทุ่มงบ 8 พันล้าน เดินหน้าสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ Sustainable ชูกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า การรีไซเคิล พร้อมสร้างเครือข่ายจัดงาน มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปี 2566

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟ เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Bev เผยถึง งบลงทุนในปี 2566 ของกลุ่มไทยเบฟฯ ว่า  อยู่ที่ประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท (ต.ค. 6 -ก.ย. 66) ภายใต้กลยุทธ์ Passion 2025 ที่ต้องการเดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืน กับการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และการต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่

 

และส่วนหนึ่งคือการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของบริษัท เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน หรือ Enabling Sustainable Growth (ESG)

 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟ เวอเรจ จำกัด (มหาชน)

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืน ไทยเบฟ กล่าวว่า แผนงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มไทยเบฟ ผ่านการร่วมมือใน 3 ระดับ คือ ความร่วมมือภายในองค์กร ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรและคู่ค้า และความร่วมมือกับผู้บริโภคและสาธารณชน โดยแผนความยั่งยืนปี 2566 จะดำเนินการภายใต้พันธกิจ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” (Creating and Sharing the Value of Growth) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)

 

สำหรับกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยเบฟ มีเป้าหมายหลัก ในการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Scopes 1 และ 2) และการคืนนํ้าสู่ธรรมชาติ 100% (ของปริมาณนํ้าในสินค้าสำเร็จรูป) ภายในปี 2583 และ Net Zero Scope 3 ภายในปี 2593 รวมถึงการสร้าง Employee Engagement Score มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 43% และ เพิ่มสัดส่วนเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเป็น 80% จากยอดขายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ภายในปี 2573

 

“ไทยเบฟ” กางแผนความยั่งยืน ทุ่ม 8 พันล้านสู่ NET ZERO

ทั้งนี้ ความโดดเด่นด้านความยั่งยืนที่ไทยเบฟดำเนินงาน จะแยกเป็น 2 กลุ่ม เรื่องแรกคือ การรีไซเคิลทั้งขวดเบียร์ และขวดนํ้า โดยการนำขวดเก่ามาทำความสะอาด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ดีต่อสังคม ประหยัด และดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบริษัท ไทยเบฟเวอเรส รีไซเคิล จำกัด ที่ดำเนินการเก็บกลับขวดแก้ว และยังนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพื่อช่วยคัดแยกคุณภาพของขวดออกมา

 

ล่าสุดได้ใช้เทคโนโลยี ที่เรียกว่า Area Management มาวิเคราะห์ว่ามีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้ไปเก็บขวดกลับ หรือยังสามารถเก็บขวดกลับเพิ่มได้อีก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกลับขวด ส่วนการใช้ประโยชน์ของเหลือใช้ ไทยเบฟได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ทำก๊าซชีวภาพ หรือ แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นปุ๋ย

 

รวมทั้งการนำรถบรรทุกไฟฟ้า (อีวี) มาทดลองใช้ในการขนส่งสินค้า ที่มีเป้าหมายจะเปลี่ยนฟีทให้ได้ทั้งหมดในระยะอันใกล้นี้ ซึ่งสามารถประหยัดนํ้ามันได้ 1 ใน 3 แต่ปัญหาตอนนี้คือ ต้นทุนของตัวรถ เพราะรถไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกยังมีน้อย มีราคาแพงกว่ารถบรรทุกทั่วไป 30-50% ซึ่งพยายามทำงานร่วมกับทางเอสซีจี เพื่อปรับรถแบบเก่าจากรถใช้นํ้ามันไปเป็นรถไฟฟ้าได้หรือไม่อย่างไร

 

นอกจากนี้ เรื่องของ อีวี สเตชั่น สำหรับภายในโรงงานและแวร์เฮ้าส์ของไทยเบฟเอง เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนในจุดนี้ และยังมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน(โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งจะทยอยติดตั้งเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นไป

 

นางต้องใจ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2566 จะต้องเร่งเดินหน้า 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.พยายามยกมาตรฐานซัพพลายเออร์ด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับ TSCN Founder (Thailand Supply Chain Network) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2,000 บริษัท เช่น เอสซีจี ซีพีเอฟ ธนาคารกรุงเทพ GC ไทยยูเนี่ยน ไทยเบฟเวอเรสแคน บีเจซี เป็นต้น

 

โดยจะมีการจัดตั้ง “Thailand Sustainability Academy” ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของไทยเบฟและคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ โดยจะเริ่มทำคอร์สแรกภายในไตรมาสแรกปี 2566 เป็นเรื่อง Carbon Emission ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีจากนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานจริง

 

2.เรื่องของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ว่ามีผลต่อภาคธุรกิจ และการดำเนินงานของไทยเบฟมากน้อยแค่ไหน ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าไทยเบฟจะมีมาตรการป้องกัน หรือมาตรการเยียวยาอย่างไร เช่น นํ้าท่วม ภัยแล้ง ภาษีคาร์บอน ภาษีการใช้นํ้า ไทยเบฟต้องกลับมาดูและสร้างแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากเรื่องเหล่านี้

 

3.ความพยายามในการขยายผลความยั่งยืนไปให้ครบทุกหน่วยงานของไทยเบฟ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยค่อนข้างจะครบถ้วน แต่เครือข่ายของไทยเทฟ ที่มีทั้งใน เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ตอนใต้ของจีน สหราชอาณาจักร ก็พยายามที่จะทำให้ทุกส่วนของไทยเบฟทำได้ครบทุกเรื่องแบบเดียวกัน

 

4.การจัดงาน “Sustainability Expo” หรือ SX งานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งมีแผนจัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีการสรุปตรีมประมาณกุมภาพันธ์ 2566 งาน SX ถือเป็นการตอกยํ้าการทำงานด้านความยั่งยืน ที่ต้องมีความร่วมมือใน 3 ระดับ คือ ภายในองค์กร พันธมิตร และสาธารณชน