“เจ้าสัวสารัชถ์” เบอร์ 1 มหาเศรษฐีแซง “เจริญ-ธนินท์”

19 ส.ค. 2565 | 06:25 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยอย่างตั้งตัวไม่ติด

 

18 สิงหาคม 2565 Forbes ระบุว่า เสี่ยกลาง-สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) GULF เป็นมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งในการถือครองทรัพย์สินแซงหน้า เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟ ที่ถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.18 หมื่นล้านดอลล่าร์ หรือราว 3.6 แสนล้านบาท ถึงตอนนี้ เสี่ยกลาง-สารัชถ์ ก้าวขึ้นเป็น “เจ้าสัวกลาง-สารัชถ์” มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทย

 

แซงหน้า “ธนินท์ เจียรวนนท์” ที่มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท

 

Forbes ระบุว่า ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2565 เจ้าสัวสารัชถ์มีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 423,330 ล้านบาท ด้วยการถือครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 11,900 ล้านดอลลาร์

 

ขณะที่ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒภักดี ถือครองทรัพย์สินในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 อยู่ราว 419,490 ล้านบาท หรือตกประมาณ 11,800 ล้านดอลลาร์

 

เจ้าสัวกล่าง-สารัชถ์ เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจพลังงานและปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ที่ทำธุรกิจหลักเกี่ยวกับพลังงาน โรงไฟฟ้าครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป 

ปัจจุบัน บริษัท กัลฟ์ มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 583,000 ล้านบาท มีมูลค่าบริษัทมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย

 

ปี 2563  GULF มีรายได้รวม 33,370 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,282 ล้านบาท

 

ปี 2564  GULG มีรายได้รวม 49,983 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,670 ล้านบาท

 

ปี 2565 แค่ครึ่งปีแรก  GULF มีรายได้รวม 43,764 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,925 ล้านบาท เกินกว่าครึ่งปีที่แล้วไปราว 1,500 ล้านบาท

 

ชัดเจน แจ่มแจ้งว่า ผลประกอบการของ GULF เติบโตขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบัน เจ้าสัวกลาง-สารัชถ์ เจ้าของ GULF ได้ขยายธุรกิจไปในธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในปี 2564 ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง INTUCH คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AIS

 

เม.ย.2564 GULF ได้แจ้งทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ใช้เงินราว 1.7 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นราว 81.07 % จากที่ถือหุ้นในสัดส่วน 18.93 %   

GULF ได้ทยอยเข้ามาซื้อหุ้นใน INTUCH อย่างต่อเนื่อง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 ซื้อหุ้น 147,044,400 หุ้น หรือ 4.59%

 

วันที่ 21 ส.ค. 63 ซื้อเพิ่มอีก 256,287,400 หุ้น หรือ 7.99%

 

วันที่ 6 ต.ค. 63 ซื้อเพิ่ม 320,650,943 หุ้น เป็น 10%

 

วันที่ 28 ธ.ค. 63 ซื้อเพิ่ม 461,548,943 หุ้น เป็น 14.39%

 

วันที่ 16 เม.ย. 64 ซื้อเพิ่ม 606,878,314 หุ้น เป็น 18.93%

 

การไล่ซื้อหุ้น “INTUCH” ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า “สารัชถ์” น่าจะเข้ามาเทกโอเวอร์ “INTUCH” เพราะมีการส่งสัญญาณออกมาเป็นลำดับ จนสุดท้าย “GULF” ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจาก “อินทัช”  จำนวนไม่เกิน 2,599,631,112 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 81.07% ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 65.00 บาท

 

GULF ยังได้รุกคืบเข้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัลและตลาดคริปโทเคอร์เรนซีโดยร่วมมือกับ Binance แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทรายใหญ่สุดของโลก จัดตั้งบริษัทร่วมทุน กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด

 

สดๆ ร้อนๆ ADVANC ส่ง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อหุ้น 7,529 ล้านหุ้น คิดเป็น 99.87% ในบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB)  จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) รวมถึง บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็จ จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างฟื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

 

8 ธันวาคม 2564 วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับ เศรษฐีหุ้นไทย เป็นปีที่ 28 ปรากฎว่าแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ยังเป็นของ เสี่ยกลาง-สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 173,099.73 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 57,809.73 ล้านบาท หรือ 50.14% โดยเสี่ยกลาง-สารัชถ์เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.55%

 

30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยต่างรับทราบว่า บุคคลที่รวยเป็นมหาเศรษฐีในเมืองไทย เป็น เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งไทยเบฟ หรือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี

 

บัดนี้ บุคคลที่เป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดได้เปลี่ยนเป็น เจ้าสัวกลาง-สารัชถ์ รัตนาวะดี  ที่เป็นเจ้าของทั้ง โรงไฟฟ้า Gulf และ ธุรกิจโทรคมนาคม ในนาม AIS ไปแล้ว  

ทั้งๆ ที่ในปี 2562 เสี่ยกลาง-สารัชถ์ ผู้ถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท

 

ปี 2563 ความมั่งคั่งของเสี่ยกลาง-สารัชถ์ ขยับเป็น 115,289.99 ล้านบาท

 

ปี 2564 ความมั่งคั่งทะลุทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท

 

อันเป็นผลจากราคาหุ้นของ GULF ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2560 ราคาหุ้น GULF ราคาหุ้นพ้งทะลุฟ้ามาเรื่อยๆจาก 10 บาท มาเป็นหุ้นะ 50 บาท เฉพราะ 1 เดือนราคาหุ้นเพิ่มจาก 46.50 เป็น 50 บาท รวยไม่รู้เรื่อง....

 

“เจ้าสัวสารัชถ์” เบอร์ 1 มหาเศรษฐีแซง “เจริญ-ธนินท์”

 

7 ก.ค. 2565 เว็บไซต์ Forbes Thailand จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 พบว่ามูลค่ารวมทรัพย์สิน ลดลงเกือบ 6% มีทรัพย์สินรวมกัน  1.51 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 5.31 ล้านล้านบาท

 

ตะลึง ตึงตังกันมั่ยครับ ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีไทย 50 คน มีมากกว่างบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลใช้จ่ายในแต่ละปีกว่า 2.3 ล้านล้านบาท!

 

มหาเศรษฐีไทย 3 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับที่ 1 ยังคงเป็น “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” และพี่น้องเจียรวนนท์ ในปีนี้มูลค่าทรัพย์สินรวมของกลุ่มเจียรวนท์ลดลง 3,700 ล้านดอลลาร์ สาเหตุจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าลง 12%  ทำให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของ“พี่น้องเจียรวนนท์” ลงมาอยู่ที่ 2.65 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 9.33 แสนล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 2 คือ เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 1,900 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินในการถือครองปีนี้อยู่ที่ 2.64 หมื่นล้านดอลลาร์ ตกประมาณ 9.30 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากยอดขายของเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ที่เติบโตจากทั่วโลก

 

ความร่ำรวยของมหาเศรษฐีไทย 2 ตระกูล “เจียรวนนท์-อยู่วิทยา” ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก เรียกว่า หายใจรดต้นคอกันทีเดียว

 

มหาเศรษฐีไทยอันดับ 3 คือ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจ “เครือไทยเบฟ-ทีซีซี-เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้” มูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองราว 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือตกประมาณ 3.94 แสนล้านบาท นับเฉพาะทรัพย์สินที่ถือครองแล้วมีการเปิดเผยตัวตนชัดเจน

 

มหาเศรษฐีอันดับ  4  คือ เสี่ยกลาง-สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของธุรกิจพลังงานภายใต้อาณาจักร GULF และ AIS ในปี 2565 มูลค่าทรัพย์สินของเสี่ยกลางเพิ่มขึ้น 2,200 ล้านดอลลาร์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 3.87 แสนล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 5 คือ ครอบครัวจิราธิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจค้าปลีก ศูนย์การค้าและธุรกิจเสื้อผ้า อาหาร ถือครองทรัพย์สินมูลค่า 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 3.73 แสนล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 6 คือ สมโภช อาหุนัย และครอบครัว เจ้าของธุรกิจพลังงานบริสุทธิ์ ไบโอคอมเพล็กซ์ แบเตอร์รี่ไฟฟ้า ครอบครองทรัพย์สินมูลค่ากว่า 3,910 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.37 แสนล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 7 คือ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ โรงพยาบาลในกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) BDMS ถือครองทรัพย์สินมูลค่าทรัพย์สิน 3,100 ล้านดอลลาร์ หรือตกประมาณ 1.09 แสนล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 8  คือ วานิช ไชยวรรณ เจ้าของธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัยในนาม”ไทยประกัน” มูลค่าทรัพย์สินที่ถือครอง 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.05 แสนล้านบาท ขยับขึ้นพรวดพราดจากอันดับ 14 ในปีก่อนขึ้นมาแทนที่ “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ” จาก กลุ่มบริษัทเมืองไทย แคปปิตอล ที่หล่นไปเป็นมหาเศรษฐีไทยในอันดับ 12

 

มหาเศรษฐีอันดับ 9 คือ ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว เจ้าของธุรกิจสีทาบ้าน อาคาร ที่รู้จักกันดีในนาม สี TOA สียี่ห้อ Captain SuperShield 4Seasons ที่นำธุรกิจครอบครัวมาเป็นบริษัทมหาชนในปี 2560 โดยในปี 2560 รายได้รวม 15,825 ล้านบาท กำไร 1,705 ล้านบาท พอถึงปี 2561 รายได้รวม 16,465.3 ล้านบาท กำไร 1,789.4 ล้านบาท ปัจจุบันครอบครัวตั้งคารวะคุณถือครองทรัพย์สินมูลค่า  2,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.86 หมื่นล้านบาท

 

มหาเศรษฐีอันดับ 10 คือ ครอบครัวโอสถานุเคราะห์ นำทัพโดย นิติ โอสถานุเคราะห์  เจ้าของเครื่องดื่มตระกูลM ถือครองทรัพยสินมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.51 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ถือครองทรัพย์สินอยู่ 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท

 

โลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน ความมั่งคั่งเปลี่ยน

 

เราทำอะไรจึงจะรวยเป็นมหาเศรษฐีได้บ้าง!