5 ซีอีโอบิ๊กธุรกิจไทย แชร์ไอเดีย - มุมมองทางรอดสู่ความยั่งยืนโลกและธุรกิจ

02 ต.ค. 2565 | 10:01 น.

5 ผู้นำองค์กร ซีพี- ไทยยูเนียน - พีทีที - เอสซีจี- ไทยเบฟ เวที SX2022 แชร์ไอเดียสร้างธุรกิจยั่งยืน เร่งกำหนดเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัด ดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธุรกิจ และต้องทำให้ได้จริงอย่างที่พูด เชื่อปี 2545 ความยั่งยืนจะไปที่ปัจเจกบุคคล ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากเวที Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 นอกจากองค์กรชั้นนำของไทยจะร่วมผนึกกำลังโชว์นวัตกรรมด้านความยั่งยืนแล้ว ซีอีโอจาก 5 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

5 ซีอีโอบิ๊กธุรกิจไทย แชร์ไอเดีย - มุมมองทางรอดสู่ความยั่งยืนโลกและธุรกิจ

ได้รวมตัวกัน บนเวทีเสวนาในหัวข้อ Leading Sustainable Business เพื่อเปิดกลยุทธ์องค์กรด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความท้าทาย และเส้นทางเพื่อความอยู่รอดของโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี กล่าวว่า การที่องค์กรจะดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ที่จะต้องตระหนักรู้ว่า ขณะนี้ทุกคนกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนจริง ๆ และเป็นปัญหาของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอัตราเร่ง เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ นำไปสู่การบริโภคที่ดึงทรัพยากรของโลกและก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปัญหาขยะจำนวนมหาศาล

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี

ทุกวันนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการพัฒนาเศรษฐกิจกันอย่างเต็มที่ และถูกขับเคลื่อนออกมาในเชิงบริโภคนิยม โดยไม่ตระหนักว่าของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และทำลายทรัพยากรจากการบริโภคนั้นสร้างผลกระทบในวงกว้างขนาดไหน ฉะนั้น ถ้าหากทุกคนมีแต่เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง มีแต่เป้าหมายขององค์กร แต่ไม่เคยตั้งเป้าหมายความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนของโลกและต่อตัวเราเอง โลกก็จะไม่ยั่งยืน

 

องค์กรจึงควรมีการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน รวมไปถึงคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนขององค์กร มีการส่งเสริม ให้การยอมรับ และมอบผลตอบแทนแก่พนักงานรวมทั้งครอบครัวของพนักงานทุกคนที่ทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก สร้างนวัตกรรม และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร "ซีพี ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปีบริษัทจะผงาดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในด้านธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็น 1 ใน 10 ของโลกด้านความยั่งยืนด้วย เพราะผมเชื่อมั่นว่าบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยการมีวัตถุประสงค์ที่ดีต่อส่วนรวมจะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง 


นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอดีต เคยคิดเพียงว่าจัดการปัญหาภายในองค์กรได้ ก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่องค์กรไม่แสวงหากำไรและคู่ค้าธุรกิจอยากเห็น คือ บริษัทมีการดูแลปัญหาไปจนถึงซับพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ดังนั้น ไทยยูเนี่ยนต้องทำงานใกล้ชิดกับทั้งฝ่ายรัฐบาล คู่ค้าที่ขายวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงทั้งหลาย เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

รวมไปถึงการจัดหาจัดจ้างแรงงานโดยตรงจากต่างประเทศด้วย ไม่เพียงแต่แรงงานภายในองค์กรเท่านั้น ไทยยูเนี่ยนยังมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่กำหนดให้คู่ค้าทุกรายในระบบต้องปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม มีมาตรการในการจัดซื้อวัตถุดิบที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Sourcing) โดยมีการตรวจสอบการจัดการเรือประมงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นคู่ค้าของบริษัทด้วย

 

สำหรับธุรกิจของไทยยูเนี่ยน การดำเนินการด้านความยั่งยืนถือเป็นใบอนุญาตในการทำงาน เพราะเป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น นักลงทุน คู่ค้าทุกส่วน ที่ต้องการเห็นการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ คู่ค้าธุรกิจต้องการค้าขายกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ฉะนั้นบริษัทที่ไม่ใส่ใจด้านนี้ ก็จะไม่สามารถทำธุรกิจได้

 


"สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะในประเทศไทย ผมอยากให้มองว่าเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว การทำเรื่องนี้ไม่ใช่ทำเพื่อความอยู่รอดของโลกเท่านั้น แต่เป็นความอยู่รอดของตัวเราเองและของธุรกิจเราด้วย ผมเชื่อว่าการทำเรื่องความยั่งยืนจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้ในอนาคต"

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การดำเนินการเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะสภาวะการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การดำเนินธุรกิจเพื่อลดโลกร้อนจึงควรเริ่มที่คำถามว่า “ทำไม” และสร้างแนวทางที่ส่งผลกระทบด้านบวกให้มากที่สุด เพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำได้จริงและยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

อีกความท้าทายหนึ่งของโลก คือการทำให้ได้อย่างที่พูด จึงจะสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างจริงจัง แม้จะมีพันธกิจร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สิ่งที่ทุกคนหวั่นใจคือ ไม่ได้ลงมือทำตามที่พูดไว้ สุดท้ายแล้วแผนการต่าง ๆ ที่ตกลงมาก็ไร้ประโยชน์

 

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนควรตั้งต้นจากลูกค้าว่า ลูกค้ามีความต้องการอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า การใช้งาน หรือการรีไซเคิล เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากลูกค้ามาบวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้มีกรณีของความสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกันภายในองค์กร และทำให้เกิดการขยายวงกว้างขึ้นได้ 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ได้นำแผนการพัฒนาความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภายใต้แนวคิด Chemistry for Better Living ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น และมีสุขอนามัยดีขึ้น

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

แต่สำคัญกว่านั้นคือ กระบวนที่จะให้ได้มาซึ่งสินค้าก็ต้องดีด้วย นั่นคือ การใช้ทรัพยากรน้อยลง ดีต่อโลก บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายรูปแบบ นอกจากไบโอพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือรีไซเคิล การใช้นวัตกรรมและการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มีความคงทนมากขึ้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยทำให้มีการใช้น้อยลง สิ่งที่ GC ทำจะต้องไม่เป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง ดังนั้น GC จึงวางแผนการลงทุนระยะยาว 30 ปีข้างหน้าเพื่อลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต

“การสร้างสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้นั้น อยู่ที่ความเข้าใจขององค์กรตนเอง เพราะแต่ละองค์กรมีบริบทที่แตกต่างกัน"

 

ขณะที่ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ทรรศนะว่า ความวุ่นวายของโลกเกิดจากการบริโภคนิยม (Consumerism) ที่ทำให้ภาคธุรกิจพยายามตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีพันธกิจทั้งระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลก ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2030 พร้อมทั้งเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ แต่ทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองก่อนว่า เราสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากน้อยแค่ไหน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

"ผมอยากให้ตั้งคำถามร่วมกันว่า หลังจากปี 2030 องค์การสหประชาชาติจะใช้หัวข้ออะไรในอีก 15 ปีถัดไป หรือปี 2545 ผมเชื่อว่าการคิดเรื่องความยั่งยืนจะกลับมาที่ปัจเจกบุคคล โดยการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ในทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

 

หลังยุคมิลเลนเนียมปี 2000 เกิดความร่วมมือกันของประเภทธุรกิจที่อยู่บนกระดานเดียวกัน (industry collaboration) เพื่อสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและเติบโต แต่หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 จะเป็นยุคของความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม (cross-industry collaboration) ซึ่งจะเห็นได้จากงาน SX 2022 ที่เกิดจากการรวมพลังของเครื่องข่าย Thailand Supply Chain Network และสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทุกคน ซึ่งถือเป็นพลังร่วมที่สำคัญและเป็นมิติใหม่ที่จะหาคำตอบว่า ทุกคนจะอยู่กันอย่างไรต่อไป และจะช่วยกันรักษาโลกใบนี้ได้อย่างไร