net-zero

BCPG เร่งลงทุนเต็มสูบ อัด 3.2 หมื่นล้าน ดันเป้าผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 3 พัน MW

    บีซีพีจี เร่งสปีดลงทุนปี 2568 อัดงบลงทุนอีก 3.2 หมื่นล้านบาท ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 3,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573เน้นพัฒนาพลังงานสะอาด หลังมีกำลังผลิตในมือแล้ว 2,053 เมกะวัตต์ จากการลงทุนใน 6 ประเทศ

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน มุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นผู้นำด้านการลดภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าหมายให้การดำเนินงานในทุกทรัพย์สินของกลุ่มบริษัท บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573

โดยมีเป้าหมายระยะสั้น ปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 และการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emission) ภายในปี พ.ศ. 2593 ด้วยความมุ่งมั่นในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง

 บีซีพีจี มีกลยุทธ์การลงทุนและการพัฒนาธุรกิจ จากธุรกิจหลัก (Core Business) ที่มุ่งเน้นการเติบโตในการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า ด้วยการลงทุนและการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังนํ้า ก๊าซธรรมชาติ และระบบสายส่งไฟฟ้า โดยยังมุ่งการเติบโตใน 6 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นที่มีศักยภาพ

BCPG เร่งลงทุนเต็มสูบ อัด 3.2 หมื่นล้าน ดันเป้าผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 3 พัน MW

การขยายธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) เพื่อรองรับทิศทางของธุรกิจพลังงาน ในอนาคต โดยการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก เช่น Smart Energy, District Cooling, Energy Storage เป็นต้น ในการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อลดต้นทุน เพื่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้กับอาคารและเสริมสร้างความเสถียรของระบบไฟฟ้า

รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจหลัก (Related to Core Business) ที่มุ่งเน้นสร้างห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรในการให้บริการ วางแผน กำหนดเป้าหมาย และติดตามปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมแบบครบวงจร และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน

อีกทั้ง การพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรได้แก่ Carbon Footprint Tracking รวมไปถึงการให้คำปรึกษา วางแผนและการขึ้นทะเบียนโครงการ และบริการซื้อขายคาร์บอนเครดิต/ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น T-VER หรือ I-REC

นายรวี บุญสินสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 2,053.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในไทย ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 195.8 เมกะวัตต์ พลังงานลม 9 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว พลังนํ้า 114 เมกะวัตต์ พลังงานลม 290 เมกะวัตต์

ในเวียดนาม พลังงานลม 99 เมกะวัตต์ ไต้หวัน พลังงานแสงอาทิตย์ 469 เมกะวัตต์ ในฟิลิปปินส์ พลังงานลม 19.8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา 857 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิยช์แล้ว 1,181 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนารวม 872.5 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปอยู่ใน DJSI และ SET 50 โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ให้ได้ถึง 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปี 2568 ที่คาดว่ามีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วราว 1,670 เมกะวัตต์ ที่มาจาก 3 โครงการได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเมืองซาลาย ในเวียดนาม 99 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าเวียดนาม คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon ในสปป.ลาว ขนาดกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 48.25 % หรือราว 290 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตติดตั้งรวม 600 เมกะวัตต์ ได้ติดตั้งกังหันลมทั้งหมด 133 ต้น แล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 4 ปี 2568 โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งไปยังเวียดนามภายใต้ข้อตกลง Power Purchase Agreement (PPA) ระยะยาว

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน ในเขตไถหนาน เกาสง หยุนหลิน และเจียยี่ มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการขนาดกำลังการผลิตรวม 469.0 เมกะวัตต์ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมราว 3.4-3.5 หมื่นล้านบาท โครงการมีลักษณะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. โครงการประเภท Outdoor Fishery เป็นโครงการติดตั้งบนพื้นดินในพื้นที่บ่อเลี้ยงปลา โดยติดตั้งแผงโซลาร์ครอบคลุมพื้นที่ได้ราว 40 % มีอายุสัญญา 20 ปี ภายหลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

2. โครงการประเภท Indoor Fishery เป็นโครงการติดตั้งบนหลังคาโรงเรือนเลี้ยงปลา โดยติดตั้งแผงโซลาร์ครอบคลุุมพื้นที่ได้ 70% มีอายุสัญญา 20 ปี หลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และ 3.โครงการประเภท Solar Farm เป็นโครงการติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งไม่ได้มีการเลี้ยงปลาหรือทำการเกษตรอื่นร่วมอยู่ด้วย โดยติดตั้งแผงโซลาร์ครอบคลุมพื้นที่ได้ 90 % มีอายุสัญญา 20 ปี ภายหลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดิน ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า และใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มก่อสร้างที่ประมาณ 150 เมกะวัตต์ก่อน โดยคาดว่าปลายปีนี้น่าจะสร้างแล้วเสร็จประมาณ 100 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการรวบรวมที่ดิน เพื่อขยายให้ครบตามเป้หมาย 469 เมกะวัตต์ ภายในปี 2571 ต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2568 บริษัท จะใช้เงินลงรวม 32,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ลงทุนในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 42% และเป็นการลงทุนในโครงการใหม่ 58% โดยบริษัทตั้งเป้าหมายกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เติบโตขึ้นกว่า 30% จากปีก่อน ซึ่งมาจากการลงทุนใหม่ 25% ที่เหลือมาจากธุรกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซฯ (CCGT)ในสหรัฐฯ 29% โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 20% พลังงานลม 3% เขื่อนในสปป.ลาว 12% และtank Terminal 11%

ส่วนการดำเนินงานธุรกิจด้านคาร์บอนเครดิตในปี 2568 บริษัท คาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นจากโครงการพลังงานลม ที่สปป.ลาวและเวียดนาม ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีคาร์บอนเครดิตอยู่ราว 609,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 385,000 ตัน