ตลาด"เนื้อสังเคราะห์" ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหารได้จริงหรือ

02 ก.ค. 2566 | 18:10 น.

ปัจจุบัน มีมากกว่า 150 บริษัททั่วโลกที่กำลังผลิตเนื้อจากเซลล์ของสัตว์ในห้องแล็บ ซึ่งไม่ใช่แค่เนื้อไก่หรือเนื้อหมู แต่ยังรวมถึงเนื้อแกะ เนื้อวัว และเนื้อปลา ด้วยความหวังว่า นวัตกรรมอาหารดังกล่าวจะช่วยมนุษย์รับมือกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร

 

สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกในโลกที่ไฟเขียวให้ขาย เนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นในห้องทดลอง หรือที่เรียกกันว่า “เนื้อสังเคราะห์” (lab-grown meat หรือ cultured meat) และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบสองปีครึ่งแล้ว แม้จะมีความก้าวหน้าอยู่บ้าง แต่อุตสาหกรรมเนื้อสังเคราะห์ก็ยังมีอุปสรรคด้านอุปทาน รวมทั้งการยอมรับจากผู้บริโภคโดยทั่วไป

เนื้อสัตว์สังเคราะห์ เกิดจากกรรมวิธีปลูกถ่าย หรือเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง ทำโดยการสกัดเซลล์จากสัตว์ และเพาะเลี้ยงกล้ามเนื้อจนได้เนื้อชิ้นโต ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติของเนื้อ เหมือนกับสัตว์ชนิดนั้นจริงๆ

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเป็น “วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้” สำหรับหลายประเด็นที่เป็นปัญหาระดับโลกในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ...

  • ความไม่มั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์
  • ปัญหาดินเสื่อมโทรม
  • ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ
  • และความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อนพื้นที่อื่น ๆ ด้วยคลื่นความร้อนที่แผ่ไปทั่ว และความมั่นคงทางอาหารที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในวาระการประชุมของภูมิภาค

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินในสิงคโปร์ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชากรต้องนำเข้าอาหารที่บริโภคในประเทศถึง 90%

เนื้อไก่สังเคราะห์เพิ่งได้รับไฟเขียวจากกระทรวงเกษตรสหรัฐให้วางจำหน่ายได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566

สิงคโปร์พยายามผลิตเองในประเทศ-ลดพึ่งพานำเข้า

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า การหันมาใช้เนื้อสัตว์ที่ยั่งยืนให้มากขึ้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านอาหารของสิงคโปร์ โดยโครงการที่ใช้ชื่อว่า “30 by 30” ตั้งเป้าที่จะผลิตอาหารให้ได้ 30% ของความต้องการทางโภชนาการของสิงคโปร์ภายในปีค.ศ. 2030

ตัวอย่างบทเรียนของสิงคโปร์ คือผลกระทบที่มีต่อ “ข้าวมันไก่” หนึ่งในเมนูอาหารประจำชาติ เมื่อครั้งเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียห้ามส่งออกไก่ไปยังสิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา (2565) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ออนเดร ฮิวเบอร์ กรรมการบริหารของ “ฮิวเบอร์ส บุชเชอรี แอนด์ บิสโทร” (Huber’s Butchery and Bistro) ซึ่งเป็นร้านอาหารเพียงแห่งเดียวในสิงคโปร์ที่เสิร์ฟอาหารที่ทำจากเนื้อไก่สังเคราะห์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เกี่ยวกับกรณีของสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์ต้องพยายามแก่งแย่งช่วงชิงเนื้อไก่มาจากประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ การที่สิงคโปร์ไม่มีที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องทดลองขึ้นมาเอง

เมนูไก่สังเคราะห์ของบริษัทกู๊ดมีท ที่วางจำหน่ายในร้าน ฮิวเบอร์ส บุชเชอรี แอนด์ บิสโทร ที่สิงคโปร์

รายงานข่าวระบุว่า แม้สิงคโปร์จะอนุมัติให้ขายเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 แต่จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งผลิตโดยบริษัทกู๊ดมีท(GOOD Meat) ของสหรัฐ ก็ยังคงมีจำหน่ายในแวดวงจำกัด คือเฉพาะในร้าน Huber’s เท่านั้น นอกจากนี้ ยังผลิตได้ในปริมาณที่จำกัดเนื่องมาจากปัญหาทางด้านเงินลงทุน

การยอมรับของผู้บริโภคก็สำคัญ

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือการใช้เซรั่มของตัวอ่อนในครรภ์แม่วัว ซึ่งมักทำโดยการฆ่าวัวในขณะที่พวกมันตั้งท้องอยู่

ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกใช้ลูกวัวที่อยู่ในท้องแม่วัวมากกว่า 2 ล้านตัวเพื่อผลิตเซรั่มดังกล่าวประมาณ 800,000 ลิตร ซึ่งจุดประกายความขัดแย้งทางจริยธรรมในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้การใช้เซรั่มดังกล่าวยังขัดแย้งกับคุณสมบัติเบื้องต้นของเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองที่ต้องไม่มีการฆ่าสัตว์มาเกี่ยวข้องอีกด้วย

จุน ชอง เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทกู๊ดมีท กล่าวว่า บริษัทเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้เซรั่มจากพืชชนิดใหม่ที่จะสามารถแทนที่เซรั่มจากตัวอ่อนวัวได้ และอีกไม่นานทางบริษัทจะนำเซรั่มตัวใหม่นี้มาใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อไก่แทน

ในขณะเดียวกัน อัลเฟรโด ฟรังโก โอเบรกอน (Alfredo Franco-Obregon) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ค้นพบวิธีใช้แม่เหล็กประกอบการเพาะเลี้ยงเนื้อจากเซลล์ที่อาจใช้แทนเซรั่มของวัวที่อยู่ในท้องแม่วัวได้ โดยเขาบอกว่าวิธีนี้ดีพอ ๆ กับการใช้เซรั่มตัวอ่อนวัวเลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อกล่าวว่า หากเนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นในห้องทดลองสามารถเพิ่มขนาดได้ หวังว่าฟาร์มปศุสัตว์ที่ไร้มนุษยธรรมจะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป

ผู้บริโภคจำนวนมากลังเลหรือปฏิเสธที่จะลอง เพราะคิดว่าเนื้อสังเคราะห์เป็นเรื่องแปลกประหลาด

อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งมีการอนุมัติให้ขาย “เนื้อไก่สังเคราะห์” จากห้องทดลองได้แล้วเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่บริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์ในอเมริกา โดยกระทรวงการเกษตรสหรัฐเป็นหน่วยงานที่อนุมัติให้บริษัทอัพไซด์ ฟู้ดส์ (Upside Foods) และบริษัทกู๊ด มีท (Good Meat) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถขายเนื้อไก่ที่ผลิตจากเซลล์ของสัตว์ให้แก่ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้

โดยการอนุมัติดังกล่าว ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ซึ่งมีเป้าหมายลดการฆ่าสัตว์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งการก่อก๊าซมีเทนของมูลสัตว์ด้วย

แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคจำนวนมากก็ยังคงลังเล หรือปฏิเสธที่จะรับประทานเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่ผลิตจากเซลล์เหล่านี้ โดยผลการสำรวจความเห็นล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักข่าวเอพีและศูนย์วิจัย NORC Center for Public Affairs Research ในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่อเมริกันบอกว่า พวกเขาคงจะไม่ลองกินเนื้อที่ผลิตจากเซลล์ของสัตว์ในห้องทดลอง

และเมื่อถามว่าทำไมจึงไม่คิดจะลอง ส่วนใหญ่มักตอบว่า เพราะมัน"ฟังดูประหลาด" ขณะที่ราวครึ่งหนึ่งตอบว่า พวกเขายังคงกังวลด้านความปลอดภัย

ราคายังแพง ก็เป็นอีกอุปสรรคใหญ่

จอช เททริค ผู้ก่อตั้งบริษัทอีท จัสต์ (Eat Just) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกู๊ดมีท Good Meat พยายามยกให้เห็นข้อดีของเนื้อสัตว์สังเคราะห์ว่า "เราสามารถใช้วิธีที่แตกต่างผลิตเนื้อสัตว์ แทนการใช้ที่ดินและน้ำในการเลี้ยงปศุสัตว์ก่อนที่จะนำพวกมันไปฆ่าเป็นอาหาร"

แม้เป็นเหตุผลที่ฟังดูดี และน่าส่งเสริม แต่กระบวนการผลิตเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บก็มีต้นทุนสูง

ริคาร์โด ซาน มาร์ติน ผู้อำนวยการห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ (University of California Berkeley) กล่าวว่า ปัจจุบัน เนื้อสัตว์สังเคราะห์ยังมีราคาแพง และมีต้นทุนสูงในการผลิต นั่นหมายความว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เนื้อสัตว์จากห้องแล็บจะสามารถวางขายได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่ว ๆไป

ทั้งบริษัทอัพไซด์ ฟู้ดส์ และบริษัทกู๊ด มีท ในสหรัฐ ต่างมีแผนเริ่มขายสินค้าของตนที่ร้านอาหารแบบพิเศษซึ่งมีเมนูเนื้อสัตว์สังเคราะห์โดยเฉพาะ ก่อนที่จะขยายไปยังร้านอาหารอื่น ๆ จากนั้น ในอนาคตจึงจะวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือจุดค้าปลีกอื่นๆ เมื่อเนื้อสัตว์สังเคราะห์เหล่านี้มีราคาถูกลง

หวัง เดเจี๋ยน รองหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า นับจากนี้ไปอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษ บางที 50% ของเนื้อสัตว์ทั้งหมดในตลาด จะเป็นเนื้อที่ใช้เนื้อเทียมผสม หรือเป็นเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองโดยใช้ทั้งเซลล์สัตว์และเซลล์จากพืชผสมผสานกัน

เนื้อสังเคราะห์กับเนื้อเทียม แตกต่างกันอย่างไร

เนื้อสังเคราะห์ (Cultured meat) แตกต่างจากเนื้อเทียมตรงมันไม่ใช่เนื้อที่เกิดจากผลิตภัณฑ์แปรรูป ตกแต่งกลิ่นสีให้ใกล้เคียง แต่มันเป็นเนื้อสัตว์จริงๆ เพียงแต่มันไม่ได้เติบโตตามธรรมชาติหรือเลี้ยงในฟาร์ม แต่เป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากห้องทดลอง โดยการนำเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์มาเพาะให้มนุษย์รับประทาน

เทคโนโลยีดังกล่าวอาศัยการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดหรือ Stem cell ทำการเพาะเลี้ยงขึ้นมาในห้องแล็บ โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมจำเพาะ ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และสารอาหารจำเป็นในการเติบโต ก็จะสามารถได้เนื้อสัตว์ขึ้นมาตามต้องการ สามารถทำได้ทั้ง เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว รวมถึงเนื้อปลาทูน่า มีรสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติ

เนื้อเทียม (Plant based meat) คือ อาหารที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์ ทำจากพืชโปรตีนสูงชนิดต่างๆ

ส่วน เนื้อเทียม (Plant based meat) คือ อาหารที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์ ทั้งในส่วนของรูปร่างหน้าตา สี กลิ่น ไปจนถึงรสชาติ ถูกแต่งออกมาเลียนแบบใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริง โดยมากเป็นการดัดแปลงนำพืชที่ให้โปรตีนสูงมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะเหมือนเนื้อสัตว์ที่บริโภคกันในปัจจุบัน

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเนื้อเทียมมีหลากหลาย ตั้งแต่ ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา เมล็ดข้าวสาลี เห็ด ฯลฯ ผ่านกรรมวิธีหลากหลายตามการผลิตของแต่ละบริษัท ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื้อเทียมกลายเป็นหนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมและมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากในประเทศตะวันตก เป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนบริษัทผลิตอาหารจำนวนมากทยอยเข้ามาร่วมธุรกิจนี้

ข้อมูลอ้างอิง