“ศุภชัย”ซีอีโอ "ซีพี" ร่วมผลักดัน BCG-ความมั่นคงอาหาร เวที APEC ประเทศไทย

04 พ.ย. 2565 | 10:50 น.

เครือซีพี หนุนประชุม APEC 2022 ชูโมเดล BCG ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมร่วมกิจกรรมคู่ขนาน APEC CEO Summit ระดมความคิดซีอีโอจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกฝ่าคลื่นความท้าทายทางเศรษฐกิจ “ศุภชัย” ร่วมเป็น 1 ตัวแทนซีอีโอไทย เจาะลึกความมั่นคงทางอาหาร

นับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022  ของไทย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  และการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  หรือ APEC  CEO Summit  2022 ที่เป็นกิจกรรมคู่ขนานระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ   ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อร่วมผลักดันความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านความร่วมมือและมุ่งเสริมสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เผยว่า ในการนี้ซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทยได้ผนึกกำลังบริษัทในเครือฯ สนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ทั้ง 2 เวทีเพื่อที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค

“ศุภชัย”ซีอีโอ "ซีพี" ร่วมผลักดัน BCG-ความมั่นคงอาหาร เวที APEC ประเทศไทย

 

โดยในส่วนของ APEC CEO Summit 2022 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  จะเป็น 1 ในตัวแทนซีอีโอจากประเทศไทยร่วมเจาะลึกประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายระดับโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเครือซีพีขอชวนเชิญคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่จะมาประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022  ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจและประเทศไทยได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ โดยเครือซีพีพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย 

 

โดยในส่วนของ APEC 2022 เครือซีพีและบริษัทในเครือ ได้แก่ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และกลุ่มทรู จะร่วมนำเสนอการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีที่จะส่งเสริมการเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกมิติ  

 

โดยซีพีเอฟจะนำเสนอเส้นทางสู่การเป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)  ด้วยนวัตกรรมสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช Meat Zero และผลิตภัณฑ์ Low Carbon Footprint และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก รวมไปถึง กระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และลด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์อาหาร

 

“ศุภชัย”ซีอีโอ "ซีพี" ร่วมผลักดัน BCG-ความมั่นคงอาหาร เวที APEC ประเทศไทย

 

ด้าน ซีพี ออลล์ นำเสนอนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยการบริหารจัดการพลังงานที่ร้านสาขา เช่น การออกแบบร้าน การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบ IoT ในการ Monitor และ Control อุปกรณ์ที่ร้านสาขา, การนำ Renewable Energy มาใช้งานที่ร้านสาขา เช่น Solar Rooftop, การส่งสินค้า Delivery ด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ส่งสินค้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, และ การนำนวัตกรรมจากกราฟีนมาประยุกต์ใช้งาน

 

ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ที่ร่วมยกระดับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สาธารณสุข และเกษตรกรรมด้วย Robocore Mini Robot หุ่นยนต์คลาวด์เอไอรุ่นใหม่ ที่สามารถนำเสนอสินค้าและโปรโมชันผ่านหน้าจอแสดงผล ทั้งยังเสริมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ลดการสัมผัสระหว่างบุคคล สามารถนำทาง รวมถึงสื่อสารได้ทั้งระบบสัมผัสหน้าจอ และโต้ตอบด้วยเสียง, True HEALTH แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ เชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพทั้งออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ, True Farm Drone โซลูชันที่ให้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นปุ๋ยหรือยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่น “ทรู ฟาร์ม” เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะครบวงจร ที่ผสานเครือข่ายทรู 5G กับเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายทั้ง ไอโอที บล็อกเชน และไซเบอร์ ซิเคียวริตี้

 

นอกจากนี้ บนเวที APEC CEO Summit 2022  ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของไทย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม คู่ขนานกับ APEC 2022 ซึ่งจะเป็นเวทีที่รวมสุดยอดผู้นำเอเปค, CEO, ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงแสวงหาแนวทางแก้ไขประเด็นสำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญ

 

โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ได้รับพิจารณาให้เป็น 1 ในซีอีโอตัวแทนจากประเทศไทย ร่วมเป็นผู้นำในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโลก คือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ในหัวข้อ “Meeting the world’s food security challenge”  ทั้งนี้ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของ 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกำลังซื้อจากประชากรกลุ่มนี้ที่มีสัดส่วนของประชากรสถานะยากจนในปัจจุบันเพียง 1.8% โดยเป็นการลดลงจากช่วงศตวรรษที่ 19 อย่างมีนัยยะสำคัญ  โดยเครือซีพีได้มีการลงทุนในหลายเขตเศรษฐกิจของเอเปค จากธุรกิจหลากอุตสาหกรรม  เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนในทุกพื้นที่ของการลงทุน