"ปตท.สผ."ตั้งงบ 2.3 หมื่นล.ลุยผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณเพิ่ม 800 ล.ลูกบาศก์ฟุต

31 ม.ค. 2567 | 02:01 น.

"ปตท.สผ."ตั้งงบ 2.3 หมื่นล.ลุยผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณเพิ่ม 800 ล.ลูกบาศก์ฟุต พร้อมปักหมุดผลิตปิโตรเลียมอีก 9% มาอยู่ที่ 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปี 67 ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 230,194 ล้านบาท โดยมีแผนจะเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายนนี้ 

รวมถึงรักษากำลังการผลิตก๊าซฯ จากโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และจะเร่งการสำรวจปิโตรเลียมในไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้พลังงานในอนาคต 

โดยในปีนี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตปิโตรเลียม อีกประมาณ 9% มาอยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น 

"ปตท.สผ."ตั้งงบ 2.3 หมื่นล.ลุยผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณเพิ่ม 800 ล.ลูกบาศก์ฟุต

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้สำรองงบประมาณเพิ่มเติม (Provisional Budget) อีกจำนวน 67,822 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2567 - 2571) เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ 

สำหรับผลประกอบการด้านการเงินของปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท ลดลงประมาณ 6% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า 
 

ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณ 10% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) เป็นต้น จึงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท โดยประมาณ 40% ของกำไรสุทธิดังกล่าว มาจากโครงการที่ลงทุนในต่างประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง

"ปี 66 ปตท.สผ. นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่นในปี 66 จำนวน 54,280 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่ง"