"พีระพันธุ์" งัด 7 ปม ซัดก้าวไกล หยิบข้อมูลคาดการณ์อภิปรายลดค่าไฟกระทบ กฟผ.

05 ม.ค. 2567 | 03:58 น.

"พีระพันธุ์" รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ซัด ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ 2567 พาดพิงรัฐบาลลดค่าไฟกระทบฐานะการเงินของ กฟผ. ระบุตกใจทำไมหยิบข้อมูลคาดการณ์มาอภิปราย พร้อมยกข้อมูลจริง 7 ประเด็น ตอกกลับ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga ถึงกรณีการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยมีการพาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่าทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประสบปัญหาทางการเงินนั้น โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 พาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่าทำให้เป็นปัญหาการเงินให้กฟผ. ถือว่าน่าแปลกที่เรื่องเดียวกันกลับเลือกพูดเรื่องปัญหาการเงินของ กฟผ. แทนที่จะพูดเรื่องประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศ ที่ผมและรัฐบาลนี้ทำสำเร็จ 

โดยบอกว่า กฟผ. มีสถานะเงินสดต่ำมากจนน่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มตามกราฟฟิกที่นำมาแสดงว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 กฟผ. จะมีกระแสเงินสดเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท และลดลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีกระแสเงินสดเหลือแค่ 10,000 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 จะไปถึงขั้นกระแสเงินสดติดลบ

แถมยังมีหนี้สินที่ต้องชำระให้ ปตท. อีกหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่จะต้องส่งรายได้ให้รัฐอีกปีละหลายหมื่นล้าน โดยปี 2566 กฟผ. ต้องนำรายได้ส่งรัฐ 17,142 ล้านบาท และปี 2567 ที่จะติดลบกระแสเงินสดด้วยนี้ กฟผ. กลับจะต้องนำส่งรายได้ให้รัฐถึง 28,386 ล้านบาท สูงกว่าปี 66 ถึง 65% แล้วจะทำอย่างไร

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า เรื่องนี้ฟังแล้วน่าตกใจว่ารัฐไปยัดปัญหาให้ กฟผ. เพิ่มทำไม ประชาชนทางบ้านและสื่อมวลชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะตกใจตามไปด้วย ส่วนตัวก็ตกใจ โดยไม่ได้ตกใจในข้อมูลและตัวเลขที่พูด

แต่ตกใจว่าทำไมเลือกเอาข้อมูลที่เป็นเพียง “ข้อมูลคาดการณ์” ที่ทำล่วงหน้าก่อนของจริงตั้งแต่ตุลาคม 2566 ปีที่แล้วมาพูด แทนที่จะเอา “ข้อมูลจริง” ที่ “เกิดขึ้นจริง” ณ เวลานี้ มาพูด จึงขอเรียนตามนี้

1.ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่นำมานั้น มาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลตอนที่จะนำงบการเงินปี 2564 -2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 และอีกครั้งก่อนที่จะตอบชี้แจงเมื่อคืน จึงเชื่อถือได้ว่าเป็น “ข้อมูลจริง” แต่ถ้าไม่เชื่อคงต้องไปเถียงกับ กฟผ. เอาเอง

2.“ข้อมูลคาดการณ์” ที่ ส.ส. ศุภโชติ พรรคก้าวไกล นำมาพูดนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ตุลาคม 2566 ก่อนมี “ข้อมูลจริง” ณ ปัจจุบัน ดังนี้

(ก) ตารางหรือกราฟที่ ส.ส. ศุภโชติ นำมาใช้นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และมิได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็ต้องประมาณการแบบ “ร้าย“ หรือแบบ worst case scenario ไว้ก่อน และตารางหรือกราฟนั้นก็เป็นเพียงเอกสารภายในที่ใช้เพื่อชี้แจงพนักงานของ กฟผ. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลจริงในการบริหาร และไม่อาจใช้อ้างอิงได้ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจริง

(ข) มีปัจจัยที่เป็น “ข้อมูลจริง” อื่นๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,600 ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฎในตารางคาดการณ์ที่นำมาแสดง

(ค) อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท / หน่วย ตลอดปี 2567 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ “ข้อมูลจริง” ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่มกราคม - เมษายน 2567 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย นั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลาง เป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง

(ง) การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตาม ”ข้อมูลคาดการณ์” เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตาม “ข้อมูลจริง” รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย

ข้อมูลใน (ค) และ (ง) นี้ก็ไม่ปรากฎในตารางที่เป็น “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนตุลาคม 2566 นั้น “ข้อมูลจริง” นี้ ยังไม่เกิดขึ้น 

3. จากสถานะการเงินที่เป็น “ข้อมูลจริง” ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง 

4. มาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที และที่ผ่านมา กฟผ. ก็ดำเนินการตามนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่สถานะการเงินจริงของ กฟผ. ในปี 2567 จะลดลงเรื่อยๆจนถึงขั้นติดลบในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง

5. ตาม “ข้อมูลจริง” นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 สำหรับปี 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีก

6. การส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ 50% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี 2566 ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ 17,142 ล้านบาท แต่ตาม “ข้อมูลจริง” กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็น “ข้อมูลจริง” ถึง 28.575% และนี้ยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

7. สำหรับปี 2567 ล่าสุด กฟผ. คาดการณ์ว่าจะนำส่งเงินรายได้ประจำปี 2567 ให้รัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 16.6666% ไม่ใช่จะนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 65% จาก 17,142 ล้านบาท เป็น 28,386 ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูดอีกเช่นกัน แต่ไม่แน่ เอาเข้าจริง กฟผ. อาจสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นเดียวกับปี 2566 ที่ผ่านมานี้ได้อีก ก็เป็นไปได้