"กกพ."จ่อถกปมศาลฯคุ้มครองเปิดรับซื้อขายไฟพลังงานหมุนเวียน 5 พันเมกฯ

03 ต.ค. 2566 | 09:38 น.

"กกพ."จ่อถกปมศาลปกครองเพชรบุรีคุ้มครองเปิดรับซื้อขายไฟพลังงานหมุนเวียน 5 พันเมกะวัตต์พรุ่งนี้ หลัง EA  ยื่นเรื่องฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ.2565-2573 ของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม บริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ (EA) ยื่นเรื่องฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์เรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อนโยบายด้านพลังงานในการขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) มากน้อยแค่ไหน 

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่ได้รับจาก กกพ. นั้นยืนยันว่าจะดำเนินตามขั้นตอนในการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 

  • พลังงานลม ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 20 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,474.20 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 2 ราย ปริมาณเสนอขาย 16.00 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,490.20 เมกะวัตต์
  • พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) : ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย ปริมาณเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์
  • พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 39 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,877.96 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 90 ราย ปริมาณเสนอขาย 490.04 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,368.00 เมกะวัตต์
  • เชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม จำนวน 13 ราย รวม 100 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะเรียกมาทำสัญาฯ ทีละรายหรือทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับทั้ง 3 การไฟฟาฯ 

ส่วนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน กพช. ได้มีมติเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น

  • โซลาร์ฟาร์ม 2,632 เมกะวัตต์ จากรอบแรกที่รับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์
  • พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ จากรอบแรกรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์
  • ก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ รอบแรกไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ
  • ขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ จากรอบแรกเปิดรับ 200 เมกะวัตต์ แต่มียอดรับซื้อที่ 100 เมกะวัตต์ จึงจะเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 130 เมกะวัตต์

สำหรับการประมูลเฟส 2 จะใช้ระเบียบเดียวกับการรับซื้อในเฟสที่ 1 หรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขตัดสิทธิ์กรณีผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบ กกพ. อาจจะต้องให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง เพราะในความจริงแล้วเรื่องการเปิดรับซื้อไฟสะอาดดังกล่าว กกพ. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก

"จากข้อมูลของ กกพ. ยืนยันว่าการประมูลในเฟส 1 มีความถูกต้อง โปรงใสและเป็นธรรม ซึ่งประเด็นหลัก EA ไม่ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนแรกคือเป็นการเช่าพื้นที่ สปก. ซึ่งจะต้องตกการพิจารณาในเรื่องของที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งกรณีที่ดินถือว่าสำคัญเพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาให้หลายโครงการต้องล่าช้าตามมาด้วย โดยวันที่ 4 ต.ค. 2566 บอร์ดกกพ. จะหารือเรื่องดังกล่าว เพราะขั้นตอนถือว่าอยู่ในชั้นศาลฯ จึงต้องให้ผู้ถูกฟ้องพิจารณาตามขั้นตอน"