พลังงานทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมอ่าวไทยกว่า 30,000ตร.กม.

30 พ.ค. 2566 | 07:31 น.

พลังงานทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมอ่าวไทยกว่า 30,000ตร.กม. จำนวน 3 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มี.ค. 66 กับผู้ที่ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต จำนวน 3 แปลง รวมขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ได้อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร 

และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

"การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นหนึ่งในมาตรการในการช่วยขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม”

พลังงานทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมอ่าวไทยกว่า 30,000ตร.กม.

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของแปลงสำรวจ G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในระยะยาว
 
สำหรับการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท 

และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย