ดีเซลไม่ขึ้นเป็น 37 บาท พลังงานหวังคลังต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล

30 พ.ค. 2566 | 00:00 น.

ดีเซลไม่ขึ้นเป็น 37 บาท พลังงานหวังคลังต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล แม้อาจจะลดลงเหลือลิตรละ 3 บาท พร้อมเร่งเตรียมแผนรับมือหวังกระทบค่าครองชีพประชาชน คาดกลางเดือน มิ.ย. 66 เห็นภาพชัดเจน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  กระทรวงพลังงานจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางในการรับมือหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในวันที่ 20 ก.ค.66 นี้ ว่าในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลรักษาการจะทำเรื่องต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลให้อีกหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องดูข้อกฏหมายอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล จะต้องดูหลายปัจจัยมาประกอบโดยเฉพาะราคาน้ำมันตลาดโลกว่ าในช่วงนั้นจะมีราคาเป็นอย่างไร จะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อพลิงได้ระดับไหน แต่เท่าที่หารือกรับกองทุนน้ำมันฯ และท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ได้ความสำคัญกับมาตรการดูแลราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงมองว่ากระทรวงการคลังอาจพิจารณาต่อมาตรการลดภาษีให้อีกครั้ง โดยจะเป็นระดับ 3 บาทต่อลิตรเหมือนที่เคยลดให้ก็ยังดี
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลางเดือน มิ.ย.66 ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น โดยจะต้องดูจากปัจจัยหลายอย่างประกอบ อาทิ การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสวันที่ 3 มิ.ย.66 ถึงอัตรากำลังการผลิต ว่าจะลดกำลังการผลิตหรือไม่ 

รวมถึงความชัดเจนของสหรัฐเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ฯ และการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นต้น แต่ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานจะไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรในทันทีแน่นอน เพราะหากปรับขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร เป็น 37 บาทต่อลิตร จะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้น้ำมันและภาคขนส่งที่จะมีผลต่อราคาสินค้าปลายทางด้วย

ดีเซลไม่ขึ้นเป็น 37 บาท พลังงานหวังคลังต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานใช้กลไกดูแลราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (ภาคครัวเรือน) LPG ผ่านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) โดยที่ผ่านมาจากวิกฤติโควิด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองในต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยได้มีการนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะน้ำมันกว่า 90% ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องใช้เงินอุดหนุนจนติดลบเกือบจะ 1.4 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวอีกว่า เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้คู่ค้ามาตรา 7 โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะไว้แล้ว 1.1 แสนล้านบาท 

จากวงเงินที่กระทรวงการคลังอนุมัติค้ำประกันเงินกู้ให้รวม 1.5 แสนล้านบาท โดยสถานะกองทุนน้ำมันวันที่ 21 พ.ค. 2566 ติดลบอยู่ที่ 72,731 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,620 ซึ่งมากกว่าบัญชีน้ำมันแล้ว
 

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ได้กู้เงินมาแล้ว 5 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างทยอยกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ โดยคาดว่ากลางเดือนมิ.ย.66 จะได้เงินกู้ก้อนใหม่มาอีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกได้ลดลงจากก่อนที่่กองทุนน้ำมันต้องควักเงินอุดหนุนถึง 14 บาทต่อลิตร เป็นสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยราว 5 บาทต่อลิตร ประมาณเดือนละ 1.3 หมื่นล้านบาท 

โดยราคาดีเซลตลาดโลกที่อ่อนตัวลงช่วงต้นเดือน พ.ค.66 ที่เฉลี่ย 86.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 10.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเดือน เม.ย.66 ดังนั้น คงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นปัจจัยสำคัญ

"แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะสามารถกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ และแบ่งจ่ายหนี้ให้กับคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7  แต่การกู้เงินก็มีขีดจำกัด และต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกเดือน"