ความมั่นคงด้านพลังงาน ต้องสร้างแบบยั่งยืน

17 มี.ค. 2566 | 04:51 น.

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนชั้นนำ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ต่างออกมาประสานเสียงอย่างพร้อมเพรียงให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน

ทั้งนี้ต้นทุนด้านพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิต ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงขนส่ง ที่ส่งผลกระทบไปถึงราคาสินค้า และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะด้วยเหตุบังเอิญ หรือเป็นความตั้งใจ เพราะใกล้การเลือกตั้งก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติวงเงิน 3,191 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบในการลดภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยลดภาระประชาชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การจัดเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วย และการตรึงราคาก๊าซ LPG-NGV ต่อไปอีก 3 เดือน

ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าถึง 2 รอบ โดยครั้งที่ 1 ปรับเพิ่มค่าเอฟที ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 4 บาทต่อหน่วย และการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าครั้งที่ 2 ปรับเพิ่มค่าเอฟทีในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ปี 2566 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนยังตรึงในราคาเดิมอยู่ แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจได้สัมผัสค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอีก

ความมั่นคงด้านพลังงาน ต้องสร้างแบบยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีที่พอจะช่วยให้ประชาชนอาจได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช แปลง G2/61 จากระบบสัมปทานมาเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีผลทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแปลง G2/61 มีราคาปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู (ปรับจาก 279-324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู) และหากประเมินจากราคาที่ปรับลดลง นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีไปจนถึงธันวาคม 2566 ราคาก๊าซจะปรับลดลงรวมมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาลดลง ทำให้สามารถช่วยลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้

นอกจากนี้ หากแหล่งผลิตก๊าซแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม) ที่ได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตั้งแต่เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สามารถกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มกำลังอีกครั้ง จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงไปด้วย ที่คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2567 แปลง G1/61 จะสามารถกลับมาผลิตได้ตามแผนที่ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) และในอนาคตยังจะมีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่อีก 3 แปลงในอ่าวไทย

การดำเนินงานต่าง ๆ นี้ จึงถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศอย่างแท้จริง ด้วยการนำทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ถูกพัฒนาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ได้ใช้ช่วงจังหวะของการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินงานแต่อย่างใด