"ค่าไฟ" ปีหน้าพุ่งเกิน 4.27 บาท กกพ.ยันแม้ใช้ดีเซลต้นทุนยังสูง

04 พ.ย. 2565 | 09:41 น.

"ค่าไฟ" ปีหน้าพุ่งเกิน 4.27 บาท กกพ.ยันแม้ใช้ดีเซลต้นทุนยังสูง คาดประกาศค่าเอฟทีในงวดใหม่ได้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กำลังเร่งจัดการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที ในงวดใหม่ปี 2566 ซึ่งคงต้องสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง ซึ่งการที่รัฐปรับมาใช้การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ก็อาจทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจลงไม่มากนัก 

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าค่าเอฟทีงวดแรกของปี2566 อาจจะใกล้เคียงกับงวดสุดท้ายของปี2565 ที่เรียกเก็บทั้งสิน 93.48 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้างวดแรกต้องสูงมากกว่า 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งขณะนี้จะต้องรอการประชุมของบอร์ด กกพ. ที่จะนำต้นทุนทั้งหมดมาประเมินโดยคาดว่าจะประกาศค่าเอฟทีในงวดใหม่ได้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ดังนั้น หากรัฐบาลจะตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนต่างจากค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น รัฐจะต้องหางบประมาณเพื่อพยุงค่าไฟและลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ขณะนี้ กกพ. กำลังเร่งสรุปตัวเลขจำนวนครัวเรือนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ
 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาฝ่าวิกฤตพลังงานโลกทางรอดพลังงานไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้า คาดว่าจะมีการตรึงอัตราค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วยไปจนถึงไตรมาสสองของปี 2566 หรือในช่วงของการคำนวนค่าเอฟทีงวดแรกของปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน โดยคณะกรรมการ กกพ. 

 

ค่าไฟปีหน้าพุ่งเกิน 4.27 บาท

กระทรวงพลังงานจะทำทุกวิธีที่ทำให้ค่าไฟคงอยู่ในระดับ 4.72 บาทเหมือนปัจจุบัน ตอนนี้ต้นทุนราคาแอลเอ็นจี (LNG) เฉลี่ยที่ประมาณ 34 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจากการคำนวณหากราคาแอลจีขยับขึ้นไปถึง 50-55 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จึงส่งผลให้ราคาค่าไฟปรับขึ้นจาก 4.72 บาท เป็น 7 บาท ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันผลิตพลังงานไฟฟ้าแทนจึงคุ้มค่ากว่าหากราคาน้ำมันอยู่ที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ในไตรมาส 4 จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้านั้น จะมีการปรับเปลี่ยนใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า โดยได้ประสานกับโรงไฟฟ้า ภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนน้ำมัน 250-300 ล้านบาร์เรล/เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ได้ช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจีได้

นอกจากนั้น ยังมีการวางแนวทางอื่นๆ เพื่อให้ค่าไฟคงที่ อาทิ

 

  • การยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะโรงที่ 8 ต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 300 เมกะวัตต์
  • การขยายการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โรงที่ 4 ซึ่งได้หมดอายุการใช้งานไปแล้วให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ โดยอยู่ระหว่างกระบวนการขอ EIA คาดว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ภายในปีนี้
  • การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศโดยเฉพาะการฟื้นฟูการผลิตในแหล่งเอราวัณรวมถึงแหล่งอื่น ๆ เช่น ซอติก้า ยาดานา ตลอดจนการหาแหล่งนำเข้า เช่นแหล่งเอ็มทีเจเอ ซึ่งเป็นแรงระหว่างมาเลเซียและไทย
  • การซื้อไฟฟ้าจากประเทศ สปป. ลาว เพิ่มมากขึ้น 30% โดยให้ราคาเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม เพราะประเมินแล้วว่าแม้ราคาที่ซื้อได้เพิ่ม แต่มีความคุ้มค่า
  • การเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สถานีชาร์จระหว่างกัน ของ 3 การไฟฟ้า และ ปตท.
  • การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นจาก  ซึ่งจะบรรจุอยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติ