เปิดแผนพลังงานชาติเร่ง 4 แนวทางมุ่งเป็นกลางทางคาร์บอน มีอะไรบ้าง ดูเลย

27 ต.ค. 2565 | 03:47 น.

เปิดแผนพลังงานชาติเร่ง 4 แนวทางมุ่งเป็นกลางทางคาร์บอน มีอะไรบ้าง ดูเลยที่นี่มีคำตอบ สนพ.เผยมีการปรับกรอบใหม่

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "Road Map พลังงานไทย" ว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพลังงานชาติ ที่ปรับกรอบแผนใหม่ แบ่งเป็น 4 แนวทาง ได้แก่ 

 

  • การเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแหล่งใหม่อื่นๆ ให้มากกว่า 50% และผลิตพลังงานหมุนเวียนควบคู่แบตเตอรี่ เน้นในพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากลม 
  • ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 30% และ 
  • การปรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงานต่างๆ ให้รองรับแนวทาง 4D 1E (Digitalization ,Decarbonization ,Decentralization ,De-Regulation ,Electrification)

ทั้งนี้ โรดแมปด้านพลังงานในอนาคตมีการปักหมุดหมาย เพราะการที่จะไปให้ถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนในอีก 30 ปี ข้างหน้า มี 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 

 

  • กำหนดพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากกว่า 30% ในปี 2030 และหลังจากปี 2030 จะต้องเพิ่มมากกว่า 50% และในปี 2050 ต้องมากกว่า 50% และควบคู่กับดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) 
  • ยานยนต์ไฟฟ้า ปี 2030 ต้องมีการใช้เพิ่มมากกว่า 50% เพื่อให้ปี 2040 รถอีวีน่าจะมาทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน 100% ในกลุ่มรถใหม่ 
  • ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ปี 2040 เพิ่มเป็น 35% ส่วนในระยาวปี 2050 ควรมากกว่า 40% 
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ที่จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะการเข้ามาของระบบดิจิทัลต่างๆ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเดิม และเพิ่มตลาดใหม่

 

ส่วนการบริหารจัดการพลังงานแห่งอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน มี 3 สิ่งสำคัญ ได้แก่ 

 

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่แน่นอนว่าพลังงานในอนาคตเป็นเรื่องไฟฟ้า ทำให้การลงทุนจะต้องเน้นพลังงานสะอาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่ม 
  • การปรับตลาดและโครงสร้างราคา ที่ต้องมีการแข่งขันมากขึ้น และมีความเสรีมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์พลังงานกระจายศูนย์ 
  • การปรับปรุงกฎหมาย หรือการกำกับดูแลต่างๆ ซึ่งภาครัฐต้องส่งเสริมตลาดในการผลิตและใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำต่างๆ เพื่อให้สามารถมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเบื้องต้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ระบบไฟฟ้าในอนาคตมีความทันสมัยมากขึ้น

นายวัฒพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า พลังงานชาติ ทั้ง 5 แผนย่อยเสร็จแล้ว โดยแผนใหญ่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปพลังงาน และแผนสภาพัฒน์ฯ เพื่อให้ประเทศในภาพรวมมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เปลี่ยนผ่านประเทศสู่พลังงานสะอาด ซึ่งความก้าวหน้าคือ ภายในไตรมาส 4 นี้ แผนแต่ละแผนจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเข้าสู้ขั้นตอนรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้ง 5 แผนย่อย 

 

ก่อนจะประกอบร่างเป็นแผนพลังงานชาติ ภายในไตรมาส 1/2566 จากนั้นจะนำไปใช้ในไตรมาส 2/2566 โดยการที่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคพลังงาน การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แผนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายต่อไป

 

นายวัฒพงษ์ กล่าวอีกว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางพลังงานของโลกได้ ทำให้ต้องเดินตามโรดแมปของภาคพลังงานไทย ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนทิศทางพลังงานโลก ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยภายในปี 2100 ทั้งโลกจะพยายามลดการปลดปล่อยก๊าสเรือนกระจก และพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50 ล้านล้านตัน ที่ต้องไปถึงเป้าหมาย โดยเซกเตอร์พลังงานเป็นเซกเตอร์ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 70%

 

ขณะนี้ทั้งโลกมี 5 แนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ได้แก่ 

  • การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน อาทิ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ก๊าซชีวภาพ ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนให้มากกว่าปัจจุบัน 
  • การผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • การเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิล มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่มีคาร์บอนต่ำมากขึ้น 
  • ไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดสูงสุด แต่ต้นทุนในตอนนี้อาจสูงอยู่ 
  • ระบบการกักเก็บหรือใช้ประโยชน์จากคาร์บอน ซึ่งทั้งโลกมีการเขียนหรือใช้เป็นนโยบายในการเปลี่ยนผ่านประเทศในด้านพลังงาน อาทิ ยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่คำนึงถึง 5 แนวทางหลักนี้ 

 

สำหรับประเทศไทยมีการนำเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลก มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่เรียกว่า เอ็นดีซี (Nationally Determined Contribution)ภายใน พ.ศ. 2573 หรือ ปี 2030 มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% เมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติ 

 

แต่สนพ.ได้ปรับแผนเพิ่มเป้าหมายลดลงให้ได้กว่า 40% เพื่อให้ภายในปี 2050 จะไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และในปี 2065 เราจะก้าวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions)