น้ำมันพืชกุ๊ก ชู BCG Model นำนวัตกรรม ลดพลังงาน-ขยะ

31 ธ.ค. 2565 | 10:15 น.

“กุ๊ก” ตอกย้ำผู้นำน้ำมันพืชไทย เดินหน้าธุรกิจอย่างยั่งยืน ชูกลยุทธ์ BCG Model มุ่งสู่องค์กร Zero Carbon Emission พร้อมชูเทคโนโลยี นวัตกรรม ลดการใช้พลังงาน ลดขยะ ลดมลพิษ

นายเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก เปิดเผยว่า น้ำมันพืชกุ๊กนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model) มาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 ด้านควบคู่กันไป ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

น้ำมันพืชกุ๊ก ชู BCG Model นำนวัตกรรม ลดพลังงาน-ขยะ               

ทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้จะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ตอบรับพันธกิจของบริษัทที่มุ่งเสริมการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก

 

ประกอบด้วยพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิตและทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้, การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร

              

“การนำโมเดล BCG มาใช้ในองค์กรนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเป้าหมาย ทำอย่างไรจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”

น้ำมันพืชกุ๊ก ชู BCG Model นำนวัตกรรม ลดพลังงาน-ขยะ               

ทั้งนี้ในด้าน Circular Economy บริษัทได้มีการรณรงค์การคัดแยกขยะให้กับพนักงาน และชุมชนรอบข้าง และจัดกิจกรรมส่งเสริมในการคัดแยก และเก็บรวบรวมขวด PET เพื่อนำกลับไปใช้ในการผลิตเสื้อพนักงาน (Upcycling) เป็นต้น ล่าสุดได้มีการจัดทำโครงการจัดการเศษขยะอาหาร ร่วมกับ Food Loss Food Waste โดยการนำขยะเศษอาหารมาเป็นอาหารของหนอนแมลงวันลาย (แมลงที่ไม่นำโรค และไม่เป็นศัตรูพืช) และเข้าสู่วงจรการกำจัดเศษอาหารอย่างไม่รู้จบ

 

ด้าน Green Economy ทางบริษัทเน้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ Multi Biomass แทน Heavy Oil โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงทางเลือก แทนน้ำมันปิโตเลียม การนำเทคโนโลยี Ice Condensing Vacuum System และ Oil Winterization มาใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมันพืช ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานและระยะเวลาในการกลั่น ตลอดจนการนำ Nano Neutralization & Combined clean ลดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการเกิดน้ำเสีย โดยนำน้ำเสียมาบำบัดกลับมาใช้ในโรงงาน และการติดตั้ง Solar cell ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในโรงงาน เป็นต้น

              

“การนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในองค์กรนั้น ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ การได้รับรางวัล Green Industry ระดับ 5 จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันทั้งประเทศมีบริษัทที่ได้รับรางวัล Green Industry ระดับ 5 ทั้งหมด 20 บริษัท 57 ใบรับรอง และบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชรายแรก และรายเดียวที่ได้รับรางวัลนี้”

น้ำมันพืชกุ๊ก ชู BCG Model นำนวัตกรรม ลดพลังงาน-ขยะ               

นายเพชร กล่าวอีกว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่องค์กรที่เป็น Zero Carbon Emission โดยนำหลักการของ BCG มาปรับใช้ เช่น การจัดทำ Carbon footprint ผลิตภัณฑ์ และ Carbon footprint องค์กร ทำให้บริษัทมีการนำเทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองกุ๊ก 1 ลิตร จาก 1.22 กิโลกรัมในปี พ.ศ. 2555 เหลือเพียง 620 กรัมในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น

 

“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์จาก waste ได้มากที่สุด และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม BCG Economy Model จึงเป็นโมเดลที่ช่วยสนับสนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้าน Circular Economy และ Green Economy”