ฟุตบอลโลก 2022 กฎ Must Have-Must Carry คืออะไร ที่ทำให้ไทยอาจอดชมบอลโลก

02 พ.ย. 2565 | 04:25 น.

ฟุตบอลโลก 2022 ใกล้เข้ามาเเล้ว หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า กฎ Must Have-Must Carry คืออะไร ที่ทำให้ไทยอาจอดชมบอลโลก

ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มฟาดแข้ง ที่การ์ตา ซึ่งประเทศเจ้าภาพ แต่จนขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คนไทยจะได้รับชมมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญนี้หรือไม่ ทำให้กระแส บอลโลก 2022 ไม่ได้คึกคักเท่าที่ควร ซึ่งเหตุสำคัญคือ  “ประเทศไทยยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก”

แม้ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้กำชับ กกท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เร่งดำเนินการประสานงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022 แต่แล้วผลการหารือยังไม่มีข้อยุติ

 

สำหรับกระแสข่าวที่รัฐบาลจะให้ กสทช.เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อให้คนไทยได้ดูบอลโลก พล.อ. ประวิตร ระบุว่า เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องทำให้ได้ ส่วนรายละเอียดว่าจะถ่ายช่องใดนั้น ยังไม่ทราบ รอให้ได้ลิขสิทธิ์ก่อน ขณะที่งบประมานในการซื้อลิขสิทธิ์เป็นของ กสทช.หน่วยงานเดียว และเป็นงบที่ทำเพื่อประชาชน

สำหรับคอบอลชาวไทย อาจจะจำกันได้กับเหตุการณ์เมื่อครั้ง ศึกฟุตบอลยูโร 2020 ที่ผ่านมาเมื่อปี่ที่แล้ว ที่พวกเราเกือบจะไม่ได้ดูฟุตบอลใหญ่รายการนี้ เกือบวินาทีสุดท้ายจึงมีสปอนเซอร์ใหญ่ใจดีสนับสนุนอัดเม็ดเงินซื้อลิขสิทธิ์มาได้ 

 

กฎ Must Have คืออะไร 

  • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ดันไปออกกฎ 7 ชนิดกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

 

  • ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับกีฬา 7 ประเภทดังกล่าวเพื่อนำมาเผยแพร่ในประเทศจะต้องปฏิบัติตามภายใต้สภาพบังคับทางกฎหมายดังกล่าวด้วย พร้อมกับต้องแจ้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศทราบว่ามีระเบียบดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลต่อการละเมิดลิขสิทธิ์

 

  • ประกาศนี้ออกมาปี 2555 หรือปี 2012 ก่อนฟุตบอลโลก 2014 ทำให้มีปัญหากับ RS เจ้าของสิทธิ์ ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะออก มีเรื่องฟ้องร้องที่ศาล กสทช. ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ RS 

 

 

กฎ Must Carry คืออะไร 

 

  • กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิตอล นั้นหมายความว่า หากแพลตฟอร์มอื่นที่นำสัญญาณการแพร่ภาพของฟรีทีวีไปเผยแพร่จำเป็นต้องนำไปเผยแพร่ทั้งช่องและทุกรายการ โดยไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

กฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ หลายฝ่ายโดยเฉพาะเอกชนก็มองว่า เป็นการบังคับให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิการถ่ายทอดกีฬาทั้ง 7 ประเภทดังกล่าว จะต้องซื้อสิทธิแบบครอบคลุมทุกสื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ มือถือและอินเทอร์เน็ต

 

ในขณะที่บางความเห็นก็มองว่า กฎเหล่านี้ไม่มีใครได้ใครเสีย เพราะกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ ไม่ได้ทำให้สิทธิของผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการได้รับผลกระทบ แค่ต้องให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยเท่านั้น  และอาจะได้ประโยชน์ จากการโฆษณาสินค้าต่างๆ เนื่องจากกฎมัสต์แครี่ระบุชัดเจนให้มีการออกอากาศเป็นการทั่วไปทุกช่องทาง จึงทำให้มีช่องทางในการเผยแพร่ออกอากาศเพิ่มขึ้น  ถ้าไม่ยึดหลักการของกฎมัสต์แครี่ ก็จะเกิดปัญหา “จอดำ” และมีคดีฟ้องร้องกัน