สวนดุสิตโพลเผยประชาชน ร้องรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือโดยเร็ว

22 ส.ค. 2564 | 02:57 น.

สวนดุสิตโพล เผยช่วงโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 40.22% อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำมัน

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสินเผยผลสำรวจการใช้จ่ายคนไทยยุคโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กว่า 40%  ร้องรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ และออกมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ลดค่าครองชีพโดยเร็ว เผยส่วนใหญ่มองว่าจะประคองตัวเองได้อีกไม่เกิน 3 เดือนพบสัญญาณคนกำลังเข้าสู่ยุค “ความปกติถัดไป (Next Normal)” ปรับการใช้ชีวิตบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

 

ผลการสำรวจ : การใช้จ่ายของคนไทยในยุคโควิด-19

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีการใช้จ่ายของคนไทย ในยุคโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง 1,274 คน ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2564 โดยนางสาวพรพรรณ บัวทองนักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า  ในช่วงโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  40.22% นำเงินจากการทำงานมาใช้  83.57% เงินออมที่มีอยู่ใช้ไปบ้างแล้วบางส่วน 42.63% รูปแบบการใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 คือ ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย  80.44% โดยอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำมัน  86.41% และจากสภาพการใช้จ่ายตอนนี้คิดว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน 37.37% ถึงแม้ว่าในช่วงโควิด-19 ประชาชนจะประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม แต่ก็ยังต้องนำเงินออมออกมาใช้ เพราะโควิด-19 ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

 

อีกทั้งสถานการณ์ว่างงาน ตกงาน และเศรษฐกิจตกต่ำก็ทำให้ประชาชนไม่มีกำลัง การบริโภคภายในประเทศมากนัก ทั้งนี้ประชาชนมองว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น รัฐบาลจึงต้อง เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี สวนเพลง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า  จากผลการสำรวจการใช้จ่ายของคนไทยในยุคโควิด-19 พบว่า ประชาชนกำลังเข้าสู่ยุคของ “Transformation” เพื่อเข้าสู่ยุค “ความปกติถัดไป (Next Normal)” ซึ่งทำให้ประชาชนมีการ “ปรับตัว ปรับใจ ปรับการใช้ชีวิต” ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

เริ่มจากการปรับตัวด้วย “ความมีเหตุผล” ในการใช้จ่ายควรจะต้องลด ละ เลิก ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตลง วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น เน้นความประหยัดและคุ้มค่า ปรับใจให้มีความ “พอประมาณ”มีความสุขและพอใจกับสิ่งที่มี ให้ความสำคัญกับความสุขใจและสุขภาพที่ดีบนพื้นฐานของการแบ่งปันและเอื้ออาทรซึ่งกัน และกัน มีการปรับการใช้ชีวิตในยุคปกติถัดไป (Next Normal) ด้วยการ “สร้างภูมิคุ้มกัน” โดยมีการวางแผนการออมเงินลดการสร้างภาระหนี้สินที่ไม่จำเป็น มีเงินสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างรายได้มากกว่าหนึ่งอาชีพ พร้อมกับมีการ พัฒนาตนเองเพื่อให้ทันและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกสถานการณ์เพื่อสามารถใช้ชีวิตอย่างมี “ความสุข สงบ  เย็น เป็นประโยชน์”

สวนดุสิตโพลเผยประชาชน  ร้องรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือโดยเร็ว