อปท. ชงแก้ภาษีที่ดิน อุด รูโหว่ ที่รกร้าง ใช้ทำเกษตร

21 ส.ค. 2564 | 23:54 น.

อปท. ดิ้นหารายได้ ชงกรมท้องถิ่น-มท.-คลัง รื้อกฎหมาย-ออกกฎกระทรวง เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ยึดภาษีโรงเรือนเก่า ผ่อนผันภาษี ที่สปก.-น.ส.3 พื้นที่เสี่ยง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหตุ 2 ปีเก็บภาษีที่ดินทำรายได้หาย มีรูโหว่ที่รกร้างใช้ทำเกษตร-ยกเว้นไม่จัดเก็บเพียบ

ผ่านมา 2 ปี สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากประชาชนเจ้าของทรัพย์สิน โดยมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดหารายได้เลี้ยงตัวเอง ลดการพึ่งพางบประมาณรัฐบาลกลาง แต่ในทางปฏิบัติพบว่ารายได้ท้องถิ่นลดลงสวนทางกับเป้าที่เคยตั้งไว้ก่อนหน้า เพราะนอกจากสถานการณ์โควิดและ นโยบายลดภาระภาษีที่ดิน 90% ให้กับประชาชนแล้ว ยังพบช่องโหว่ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวตามมา หากไม่เร่งแก้ไข

อปท.ดิ้นรื้อภาษีที่ดิน

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการหารือกับอปท.ทั่วประเทศถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปและส่งมายังกรมฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในหลักการของ พระราชบัญญัติ (พรบ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ.2562 ขัดต่อแนวทางปฏิบัติ

ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เกิดความคล่องตัวเหมือนใช้โครงสร้างภาษีเก่า จึงเสนอ กระทรวงหมาดไทยและ กระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขข้อบังคับทางภาษี ในบางประเด็นหรือไม่ก็ออกเป็นกฎกระทรวงรองรับ ต่อไป

อปท. ชงแก้ภาษีที่ดิน  อุด รูโหว่ ที่รกร้าง ใช้ทำเกษตร

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักต้องปิดช่องโหว่ กรณีการนำที่ดินรกร้าง ไม่ทำประโยชน์ ผ่อนปรน ไปทำเกษตรกรรม ได้ ทั้งๆ ที่ ท้องถิ่นทราบดีว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่เกษตรจริง ที่สำคัญกระทรวงการคลังยังออกกฎกระทรวงรองรับ ว่า พื้นที่เกษตร สามารถปลูกพืชประเภทใดได้บ้างและมีกี่ต้น ต่อขนาดแปลงที่ดิน เป็นเหตุให้นายทุน พบช่องทาง ลดค่าใช้จ่าย

  ประเด็นต่อมา ไม่ควรยกเว้นภาษีสำหรับ ที่ดินเกษตรและที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท มองว่าบ้านราคาเกิน 50 ล้าน บาทในต่างจังหวัด หาค่อนข้างยาก ท้องถิ่นจึงเก็บภาษีได้ยาก ในทางกลับกันคนที่ซื้อบ้าน ราคา 10-50 ล้านบาทได้ ถือว่าเป็นระดับเศรษฐีควรเสียภาษี

เว้น 3 ชายแดนใต้ -สปก./น.ส.3

 นอกจากนี้ อปท. ยังขอยกเว้นหรือลดอัตราภาษี ประเภทโฉนดที่ อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ทำประโยชน์ไม่ได้ เช่นเดียวกับพื้นที่เสี่ยงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกทิ้งร้าง รวมทั้งที่ดินเขตปฏิรูป ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ดินประเภท มีหนังสือรับรองทำประโยชน์ น.ส.3 น.ส.3ก ที่ ส.ค.1 ที่ดินในเขตป่า ป่าชายเลน ที่ไม่ใช่โฉนด

ไม่ควรเสียภาษีรกร้าง พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท เพราะผู้ครอบครองส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรตัวจริง รวมถึงต้องเร่งออกหลักเกณฑ์ การประเมิน สิ่งปลูกสร้าง เกี่ยวกับ ทางด่วน ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รางรถไฟฟ้า เขื่อน เรือ นักท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะท้องถิ่นไม่สามารถใช้ดุลพินิจ เรียกเก็บภาษีได้เกรงว่าจะเกิดข้อผิดพลาดทางกฎหมาย

  รวมทั้งเรียกร้องให้ปรับแก้ กรณีที่เจ้าของที่ดินไม่ชำระภาษีไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องเสียค่าปรับอัตราสูงสุด 40% ของภาษีที่เรียกเก็บ อาจจะกระทบประชาชนรวมทั้งโรงงาน อาคารที่ปิดกิจการ สถาน การณ์โควิด เจ้าของไม่มีสภาพคล่อง แต่อาคารคือ ทรัพย์สินที่ถูกกำหนดในฐานภาษี ที่เรียกเก็บ มองว่า ควรลดหย่อน ไม่ควรเรียกเก็บเต็มราคา เป็นต้น

ยึดโครงสร้างภาษีโรงเรือน

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ จังหวัดเพชรบุรี ในฐานะ นายกสมาคมพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย ระบุว่า ได้รวบรวมปัญหาภาษีที่ดิน ทั้งหมดเสนอต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เพื่อแก้ไขข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเสนอว่าอาจนำโครงสร้าง ค่าธรรมเนียมภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ที่เคยยกเลิกไปมาบรรจุเข้าไปในภาษีที่ดิน

ทั้งนี้ หากกลัวว่าจะล่าช้า ควรยกร่างออกมาเป็นกฎกระทรวงถือปฎิบัติต่อไป เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ช่วยให้เจ้าของที่ดินมีเจตนาเลี่ยง จากที่รกร้างเปลี่ยนเป็นเกษตรได้ และต้องการให้บ้านอยู่อาศัยทุกหลังราคาตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป เสียภาษีอัตราที่ต่ำเช่น 0.01% ไม่ควรยกเว้นถึง 50 ล้านบาท และขอกำหนดกลุ่มเสีย ภาษีไว้เพียง

3 หมวด เพื่อลดความซ้ำซ้อน คือ 1.ที่ดินว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์-เกษตรอยู่หมวดเดียวกัน 2.หมวดโรงเรือนเพื่อการค้า และ 3.หมวดโรงเรือนเพื่อที่อยู่อาศัย โดยนำฐานเดิมของภาษีโรงเรือนมาปรับตามอัตราที่เหมาะต่อไป

กทม.รายได้ทรุด

                นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ตามข้อเท็จจริง โครงสร้าง ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่เดิม ดีอยู่แล้ว หากเห็นว่า ฐานการเรียกเก็บต่ำไปก็สามารถปรับให้สะท้อนราคาปัจจุบันได้ ไม่ควรกำหนดภาษีใหม่ โดยนำทั้งสิ่งปลูกสร้างและที่ดินมาคำนวณรวมกัน ซึ่งท้องถิ่นอาจยังตามไม่ทัน

แหล่งข่าวกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2564 การจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ เนื่องจากการระบาดโควิด มีความรุนแรงหลายกิจการปิดตัวลง และมีความบอบซ้ำมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

คาดว่าจะลุกลามไปถึงปีงบประมาณปี 2565 ที่รัฐบาลจะขยายเวลาลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน 90% ออกไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังถูกซ้ำเติม จากแลนด์ลอร์ดนักสะสมที่ดินเกือบ 100% มักนำที่ดินรกร้างยังไม่ทำประโยชน์ ทำเป็นแปลงเกษตร จากที่ต้องเสียภาษี 0.3% ก็จะเหลือ 0.01% และยังได้รับลดหย่อนชำระภาษีที่เรียกเก็บอีกเพียง 10%