เปิดประวัติ-ความหมาย-ที่มาของวันจักรี 2565

05 เม.ย. 2565 | 08:55 น.

วันจักรี 6 เมษายน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี อ่านประวัติ-ที่มาและความสำคัญได้ที่นี่

วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี

ประวัติการตั้งชื่อ "วันจักรี" 

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย มาจนทุกวันนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ( รัชกาลที่1 -รัชกาลที่ 4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาล (รัชกาลที่1 - รัชกาลที่ 4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว

การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรด ฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า "วันจักรี"

วันที่ระลึกมหาจักรี

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 ทรงพระราชดำริว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2)

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

เชิญพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ (ร.5) จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น

ต่อมาทรงพระราชดำริว่า พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง 5 รัชกาล

พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2461 อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร

ได้รับอันเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์(ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลครั้นถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2461 (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังประกาศพระบรมราชโองการให้มีการ กราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการประจำปี กำหนดใน วันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐาน พระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมทนต์พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2470           

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภว่า ในปี 2475 อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฎแก่อารยชนในนานาประเทศว่า ชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมา

ทรงปรึกษาพระราชปรารภแก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี 2 สิ่งประกอบกัน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ ศ.ศิลปพีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ

ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธินอำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วน 1 รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินส่วน 1 อีกส่วน 1 ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อ วันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร
 

ที่มา : ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพภาคที่ 3