รื้อผังเมืองภูเก็ต ดัน “ป่าตอง” ขึ้นตึกสูง

28 เม.ย. 2567 | 09:22 น.
อัพเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 09:35 น.

บิ๊กทุนเฮ ปรับใหญ่ผังเมืองภูเก็ต ดันป่าตอง พื้นที่สีแดงยกผืน ย่านพาณิชยกรรม พ.5 สร้างตึกสูง 60 เมตร หรือ20ชั้น จากไม่เกิน 23 เมตร หรือไม่เกิน8ชั้น   ดันราคาที่ดินพุ่ง ไร่ละกว่า 200 ล้าน คอนโดฯ ราคาพุ่งตร.ม.ละ 4-5 แสน คาดบังคับใช้ปี 68  ด้านคมนาคมปูพรมโครงสร้างพื้นฐานแสนล้าน

 

 

รัฐบาลให้ความสำคัญ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต  เชื่อมการเดินทาง ทั้งทางบกและทางอากาศรองรับการขยายตัวของเมืองและนักท่องเที่ยว  ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ให้สอดคล้องกับความเจริญที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  หลังพบหลายพื้นที่ มีดีเวลลอปเปอร์เข้าปักหมุดขึ้นโครงการที่อยู่อาศัยรองรับชาวไทยและต่างชาติกันอย่างคึกคัก

 

นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ภูเก็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เข้ามา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดความต้องการมองหาที่ดินมากขึ้น ขณะเดียวกันในพื้นที่ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ใช้แทนผังเมือรวมฯ พ.ศ.2554 (ปรับปรุงเพิ่มเติบพ.ศ.2558) คาดว่าจะบังคับใช้ได้ประมาณปี 2568ทั้งนี้มีประชาชน

บางพื้นที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจถูกรอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ที่น่าจับตาคือ  โซน ป่าตอง  อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต หาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูเก็ต แลนด์มาร์คสำคัญที่ต่างชาตินิยม  กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่สีแดง พ.5 (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) สร้างอาคารสูงได้  60 เมตร  หรือประมาณ 20 ชั้น (เฉลี่ย 1 ชั้น ความสูง ที่ 3 เมตร)  จากเดิมสร้างได้ไม่เกิน 23 เมตร ไม่เกิน 8 ชั้น

การปรับผังเมืองรวมภูเก็ตส่งผลดีต่อการพัฒนาเนื่องจากที่ดินในป่าตองมีราคาสูง และหาค่อนข้างยาก ซึ่งปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ 150-200ล้านบาทต่อไร่และหากปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วคาดว่าราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับราคาขายต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมจะปรับสูงขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ตารางเมตรละ 4-5 แสนบาท จากเดิม 1.5 แสนบาทต่อตารางเมตร รวมถึงการแก้ไขเกี่ยวประกาศสิ่งแวดล้อมที่จะล้อไปกับผังเมืองรวมซึ่งลดเรื่องระยะถอนร่นและการจำกัดเรื่องความสูง     

นอกจากนี้ มีบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข4030  (กมลา), ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปีบริเวณถนนสาย ก.สร้างอาคารสูงได้ 60 เมตร ที่สูงที่สุด บริเวณถนนเทพกระษัตรี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 สร้างอาคารสูงสุดได้ 75เมตร ทั้งนี้หลักการของผังเมืองรวม ต้องการให้เป็นคลัสเตอร์  หรือฮับของเมืองอาทิ ตัวเมืองภูเก็ต ป่าตอง ถลาง เชิงทะเลขณะย่านเมืองเก่ายังคงอนุรักษ์ อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่นักท่องที่ยวให้ความสนใจ

ผังเมืองภูเก็ต ปูพื้นที่สีแดง ป่าตอง

อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐบาลให้ความสำคัญลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสนามบินแห่งใหม่ มองว่า ช่วยรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 30 ล้านคนซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่เร่งด่วนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขคือเรื่องนํ้าประปา ปัญหาขยะการก่อสร้างและขยายโครงข่ายถนนลดความแออัดคับคั่ง ในช่วงเร่งด่วนก่อน เป็นต้น

 “กำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดภูเก็ต ยังคงมีต่อเนื่อง ทั้งจากดีมานด์คนไทยและต่างชาติ แต่สต๊อกในตลาดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากกำลังซื้อระดับล่างที่เปราะบางและถูกปฏิเสธสินเชื่อ ส่งผลให้ หันไปสร้างบ้านลักชัวรีมากขึ้น ประกอบกับมีภัยสงครามรัสเซีย -ยูเครน จึงพัฒนารองรับกลุ่มกำลังซื้อกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะชาวรัสเซียเข้ามามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกันต่างชาติกลุ่มนี้ ก็มีเข้ามาลงทุนโครงการขายให้ชาติเดียวกัน"

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)สะท้อนว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภูเก็ต เติบโตอย่างอย่างรวดเร็ว จากอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว มีผลให้ฟื้นตัวเร็ว ทั้งอุปสงค์และอุปทานของที่อยู่อาศัยทุกประเภท  ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) สำรวจพบว่า  ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มีที่อยู่อาศัยเสนอขาย 12,869 หน่วย มูลค่า 91,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  77.5% และ 146.9% ตามลำดับ จากช่วงก่อนหน้า

 ในจำนวนนี้แยกเป็นบ้านจัดสรร 3,020 หน่วย มูลค่า 15,817 ล้านบาท อาคารชุด 9,849 หน่วย มูลค่า 75,701 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาด 5,913 หน่วย เพิ่มขึ้น 1,087.3% มูลค่า 48,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,361.3% คาดการณ์ว่า ในปี2567 จะขยายตัวต่อเนื่อง

  สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ  7 โครงการ มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการเดินทางทางบก และทางอากาศ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท

 2. โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา -บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท

3. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท

4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท

5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้- ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท

7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท