"อาบอบนวด" ธุรกิจไร้อนาคตจริงหรือไม่

05 ธ.ค. 2566 | 07:15 น.

"บทความ ดร.โสภณ พรโชคชัย" อาบอบนวด: ธุรกิจที่ไร้อนาคตจริงหรือไม่ หากราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเพราะตั้งอยู่ในทำเลดี อาจขายกิจการทิ้งสร้างคอนโดมิเนียม

 

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจอาบอบนวดกำลังอัสดง คนเที่ยวน้อย คนให้บริการก็น้อยลง ถูก Disrupt ด้วยการให้บริการ online จริงหรือไม่ มาดูข้อเท็จจริงบางประการ มองว่า เป็นความจริงที่ธุรกิจนี้กำลังถดถอยลง แต่คงไม่ถึงขนาดล้มหายตายจากไป เช่น ธุรกิจโรงเรียนเอกชน ที่ล้มระเนระนาดไปในช่วงก่อน แต่โรงเรียนเอกชนชั้นดีที่หลงเหลืออยู่และปรับตัวได้ก็สอนเป็นแบบสองภาษาก็กลับเฟื่องฟูในขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีการเปิดบริการใหม่ๆ

 

 สำหรับการเสียภาษีนั้น อัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 10% และอัตราภาษีมหาดไทย  10% ของค่าภาษีสรรสามิต เช่น ถ้ามีรายได้ 1,000 บาท ก็เสียภาษีสรรพสามิต 100 บาท หรือ 10% และเสียภาษีมหาดไทยอีก 10% ของภาษีสรรสามิต (100 บาท.) หรือเสียภาษี 10 บาท ดังนั้นภาษีที่เสียโดยรวมจึงเป็นเงิน 110 บาทนั่นเอง

 มาลองดูข้อโต้แย้งบางประการที่ว่าสถานอาบอบนวดยังไม่ล้มหายตายจากไป (ยกเว้นที่ตั้งอยู่ในทำเลเหมาะสมกับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์) ปัจจุบันโรงแรม 3 ดาวทั่วไปอาจมีอัตราการเข้าพัก 60% หากมีห้องพัก 100 ห้อง และมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,000 บาท ก็จะเป็นเงินเดือนละ 1.8 ล้านบาทต่อห้อง 

อย่างไรก็ตามหากเป็นในกรณีอาบอบนวด 100 ห้อง หากได้ค่าห้องสุทธิเพียง 600 บาทต่อห้อง (ตามภาวะตลาดในปัจจุบัน) แต่มีคนมาใช้บริการวันละ 1 รอบ ก็จะได้เงิน 1.8 ล้านบาทเช่นกัน แต่รายได้ทางอื่น เช่น อาหารเครื่องดื่ม น่าจะได้มากกว่าโรงแรมทั่วไป ดังนั้นในชั้นนี้ โอกาสที่อาบอบนวดจะล้มหายตายจากไปจึงยังมาไม่ถึง

อย่างไรก็ตามหากราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเพราะตั้งอยู่ในทำเลดี ก็น่าจะขายกิจการทิ้งได้ เช่น ในกรณีโรงนวดหรือโรงแรมที่สร้างรายได้สุทธิได้เดือนละ 1.8 ล้านบาท หรือปีละ 21.6 ล้านบาท ก็จะมีมูลค่ารวม 270 ล้านบาท (รายได้สุทธิ 1.8 ล้านบาท หารด้วยอัตราผลตอบแทนที่ 8%) หากที่ดินที่ตั้งอาบอบนวดมีขนาด 1.5 ไร่โดยประมาณ ก็เท่ากับเป็นที่ดินในราคา 450,000 บาทต่อตารางวา (ตัดทิ้งค่าสิ่งก่อสร้างและอื่นๆ) ดังนั้นหากราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาทต่อตารางวา การขายกิจการทิ้งจึงจะดีกว่า ไม่ต้องยุ่งยากในการทำธุรกิจนี้ หรืออาจนำเงินไปทำธุรกิจอื่นก็ได้

ในทางตรงกันข้าม หากกิจการของอาบอบนวดไปได้ด้วยดี มีรายได้สุทธิเดือนละ 4.8 ล้านบาท (โดยประมาณการว่าอาบอบนวด 100 ห้อง มีรายได้สุทธิห้องละ 800 บาทต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง) หรือปีละ 57.6 ล้านบาท กิจการนี้ก็จะมีมูลค่า 720 ล้านบาท (รายได้สุทธิหารด้วยอัตราผลตอบแทนที่ 8%) หากที่ดินที่ตั้งอาบอบนวดมีขนาด 1.5 ไร่โดยประมาณ ก็เท่ากับเป็นที่ดินในราคา 1.2 ล้านบาทต่อตารางวา (ตัดทิ้งค่าสิ่งก่อสร้างและอื่นๆ)

อาบอบนวด ยังอยู่ดีหรือไม่

ในขณะนั้นเมื่อปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ราคาที่ดินแถวรัชดาภิเษก (ใกล้โรงแรมเลอคองคอร์ด) มีราคาตารางวาละ 930,000 บาท จึงทำให้อาบอบนวดยังไม่เปลี่ยนแปลงการใช้สอย  แต่ ณ ปี 2566 ราคาที่ดินแถวนั้นเป็นเงินประมาณ 1.1 ล้านบาท จึงทำให้อาบอบนวดในทำเลงามบางแห่ง ขายกิจการไปเพราะกิจการตกตํ่า สะท้อนมูลค่ากิจการเป็นราคาที่ดินได้เพียง 450,000 บาทต่อตารางวาตามการคำนวณข้างต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเดือนกรกฎาคม 2565 ภาษีสรรพสามิตเป็นเงิน 2.48 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในเดือนล่าสุดคือสิงหาคม 2566 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.42 ล้านบาทหรือเป็นราวครึ่งหนึ่งของรายได้ก่อนโควิด-19 ยิ่งกว่านั้นตามแนวโน้ม ธุรกิจอาบอบนวดกำลังกลับมาใหม่ โดยหลายแห่งกำลังซ่อมแซมใหม่ บางแห่งก็ซ่อมใหม่แล้ว

อาบอบนวดที่เลิกกิจการไปจึงเป็นอาบอบนวดในทำเลดีที่เหมาะกับการทำอาคารชุดมากกว่า แต่ถ้าเป็นในทำเล “ลับๆ ล่อๆ” ราคาที่ดินที่ไม่สูงเกินไป ก็ยัง “ไปต่อ” ได้