เปิดคำพิพากษาคดีถอนคอนโดหรู แอชตัน อโศก ผู้ว่า กทม. ผอ.โยธา รฟม. ผิดกราวรูด

27 ก.ค. 2566 | 12:19 น.

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยืนสั่งถอนใบอนุญาตสร้างคอนโดหรู แอชตัน อโศก 783 ห้อง ชี้ผู้ว่า กทม. ผอ.โยธา ออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วย ก.ม. ทั้ง รฟม.ไม่มีสิทธิเอาที่ดินเวนคืนจากชาวบ้าน ไปให้เอกชนใช้ประโยชน์ก่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่

วันที่ 27 ก.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีคำพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 สั่งเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือ เคลื่อนย้ายอาคาร หรือ เปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด 

โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว  ตามที่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 16 ราย ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา  ผอ.สำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าการ กทม. ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด เป็นผู้ร้องสอด 

ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เสียงข้างมาก ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีเขตที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารด้านหนึ่งด้านใดกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร เพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวก ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสาม กำหนด

นอกจากนี้ ตามพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.)  รฟม. ไม่อาจกระทำการอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด นำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ไปในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนที่ดินได้  

การที่ ผู้ว่า กทม. โดย ผอ.สำนักการโยธา กทม. อนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51ชั้น พื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร รวมชั้นใต้ดิน มีจำนวนห้องพัก 783 ห้อง ตั้งบนในพื้นที่ขนาด 2.3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2  จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวทุกฉบับ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 176 หน้า  โดยเป็นรายละเอียดคำพิพากษา 134 หน้า และมีความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดควรสั่งให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ โดยให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

โดยให้ผู้ว่า รฟม.เสนอเรื่องการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านฉบับลงวันที่ 5 ก.พ. 57 ของบริษัทอนันดาฯ ต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในกำหนดเวลา 270 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา 

หากไม่ดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว หรือ ดำเนินการแล้ว แต่ครม.ไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จในระยะเวลาดังกล่าว หรือ พิจารณาแล้ว แต่ไม่ให้ความเห็นชอบแล้วแต่กรณี จึงให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลงรื้อถอน หรือ เคลื่อนย้ายอาคารหรือ เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารทั้ง 4 ฉบับ มีผลตามคำพิพากษา แต่ถ้าครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินกิจการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ให้การเพิกถอนคำพิพากษานี้เป็นอันสิ้นผลไป 

ขณะที่อีก 1 ตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นว่า รฟม. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทางเข้าออกสถานีสุขุมวิท และลานจอดรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล รฟม.จึงเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองตามความจำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รฟม.

ดังนั้น รฟม. จึงมีอำนาจอนุญาตให้ บริษัทอนันดาฯ ใช้ทางเข้าออกบริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เป็นทางเข้าออกร่วมกันระหว่างประชาชนผู้มาใช้บริการลานจอดรถสถานีสุขุมวิท กับผู้พักอาศัยในอาคารชุดโครงการแอชตัน อโศก 

ประกอบกับ รฟม. มีหนังสือแจ้งยืนยันต่อ บริษัทอนันดาฯ และเป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอยืนยันได้ว่า อาคารของบริษัทอนันดาฯ มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่มีสภาพใช้เป็นทางเข้าออกได้ตลอด ตราบเท่าที่อาคารขนาดใหญ่พิเศษดำรงอยู่ และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก ตามข้อ 2 วรรคสอง และวรรคสามของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 

จึงเห็นว่า การออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอน หรือ เคลื่อนย้าย หรือ เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารทั้ง 4 ฉบับ ของผู้ว่ากทม. และผู้อำนวยการสำนักการโยธา ให้แก่ บริษัท อนันดา เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเป็นยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด >>คลิก<<