พลิกโฉม "พระราม9-รัชดาฯ"ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ที่ดินพุ่งวาละ 2 ล้าน 

09 ก.พ. 2566 | 07:27 น.

ที่ดิน"พระราม-รัชดาฯ" ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ฮอต บิ๊กทุนAIA -PF-CPN ศึกพลิกโฉมมิกซ์ยูส รับจีนเปิดประเทศ เศรษฐกิจฟื้น สถานีร่วม ศูนย์วัฒนธรรม MRT สีน้ำเงิน-ส้ม ดันที่พุ่งวาละ 2 ล้าน

 

 

 

ที่ดินย่าน"พระราม9-รัชดาภิเษก" เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สีนํ้าเงิน   กลับมาร้อนระอุอีกครั้งเมื่อ บิ๊กทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่  ปัดฝุ่นนำที่ดินออกพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส กันอย่างคึกคัก รับสถานการณ์โควิดคลี่คลายเศรษฐกิจประเทศเริ่มฟื้นตัว

ทั่วทุกมุมโลกเปิดประเทศ การเดินทางกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะจีนกำลังซื้อหลัก ส่งผลให้ย่านดังกล่าวเกิดแรงกระเพื่อมราคาที่ดินขยับอีกครั้ง สะท้อนจากบัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ที่ขยับขึ้นกว่า20-30%

สมทบด้วยรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกหากเปิดให้บริการจะเป็นแรงบวกให้ทำเลนี้ร้อนแรงมากขึ้นที่พูดถึงกันมากจะเป็นพื้นที่รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีร่วมระหว่าง MRTใต้ดินสายสีนํ้าเงินและสายสีส้ม ที่อนาคตจะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางใต้ดินใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย

จึงไม่น่าแปลกที่จะมี นักลงทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ให้ความสนใจ อีกทั้งผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4)ที่จะบังคับใช้ กำหนดให้แยกพระราม9-รัชดาฯเป็น ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ หรือ นิว ซีบีดี เพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นย่านพาณิชยกรรมรองรับการขยายตัวของแหล่งงาน ช้อปปิ้ง ย่านอยู่อาศัย มาจากใจกลางเมือง สุขุมวิท สีลม สาทร

สถานี ร่วมศูนย์วัฒนธรรม  สายสีส้มตะวันออก

 

“ฐานเศรษฐกิจ”ลงพื้นที่สำรวจทีดิน บริเวณรอบสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ สถานีร่วม MRTสายสีส้มตะวันออกและสายสีนํ้าเงิน  พบตัวสถานีอยู่ในสภาพแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการ ขณะที่ดินแปลงใหญ่  ด้านข้างกำลังถูกพลิกโฉม เป็นโครงการมิกซ์ยูส อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ล้อมรั้วอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ภายใต้โครงการ “AIA RATCHADA2” ที่มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จ  พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 หลังจากบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย หรือ AIA ซื้อต่อมาจาก นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลพริ้นซ์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อปลายปี2564

ขณะแปลงที่ดินทำเลศักยภาพของนายสาธิต ซึ่งปัจจุบันเหลือเป็นรูปตัวแอล ติดถนนรัชดาฯ ซอย8 หาก AIA ก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ที่ดิน แปลงดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทันที   จากการสอบถามพนักงานดูแลที่ดินได้คำตอบว่า

อาจร่วมทุนต่างชาติหรือพัฒนาเอง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า จะพัฒนาเมื่อใด หรือไม่ก็อาจตัดขาย  พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า ที่ดินในย่านรัชดา-พระราม9 แปลงขนาดใหญ่รอพัฒนาเหลืออยู่ประมาณ 3-4 แปลง ล้วนเป็นทุนใหญ่แทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ในทำเลติดกัน มีที่ดินแปลงใหญ่ของ บริษัทแหลมทองค้าสัตว์จำกัด ในเครือแหลมทองสหการ ที่ดิน 24 ไร่ ยังคงเป็นสวนมะนาวและที่เพิ่มเข้ามาคือ มะพร้าว และไก่ รวมถึงโชว์รูมรถที่หมดสัญญา ปัจจุบันได้กลายเป็นสวนมะนาวไปเรียบร้อยแล้ว

โครงการ AIA รัชดา 2

ประเมินว่า เจ้าของที่ดินไม่น่าจะขายและน่าจะพัฒนาขึ้นในระยะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการ เพราะแหลมทองสหการ นอกจากประกอบธุรกิจทางด้านเกษตร และกิจการอื่นๆหลายประเภทแล้วยัง เชี่ยวชาญการลงทุนอาคารสำนักงานเกรดระดับพรีเมียมทำเลกลางเมืองที่อยู่ระหว่างพัฒนาอย่างย่านสีลม และอารีย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ อีกด้วย

ทำเลทองบนถนนรัชดาฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ดินบนถนนรัชดาฯ ยังมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องและสร้างความสั่นสะเทือนต่อธุรกิจรีเทลในย่านเดียวกัน เมื่อบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)  หรือ PF ประกาศปัดฝุ่นนำที่ดินผืนใหญ่ 13 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่าง บิ๊กซีรัชดาฯ และอาคารไทยประกันชีวิต พัฒนามิกซ์ยูสสร้างอาณาจักรใหญ่ บนถนนรัชดานอกจากนี้ PF ยังมีที่ดินแปลงใหญ่บนถนน รัชดาฯฝั่งตรงข้าม ไม่น่าจะตํ่ากว่า20ไร่ ปัจจุบันถูกล้อมรั้วและปล่อยเป็นที่ดินรกร้าง 

พลิกโฉม "พระราม9-รัชดาฯ"ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ที่ดินพุ่งวาละ 2 ล้าน 

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ดินบนทำเลพระราม9 -รัชดาฯเติบโตสูง มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และพัฒนาได้อย่างหลากหลาย  ปัจจุบันทำให้ถูกยกระดับเป็น ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูง 

ส่วนราคาที่ดินขยับไปไกล เกือบ 2 ล้านบาทต่อตารางวาโดยเฉพาะบริเวณแยกพระราม 9-รัชดาฯ เพราะมี MRT สายสีนํ้าเงินเป็นแม่เหล็ก สร้างความเจิรญให้กับพื้นที่อยู่แล้วและหากรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกเปิดให้บริการเดินรถ จะทำให้ เป็นแรงบวกส่งให้ราคาที่ดินปรับตัวเร็วขึ้น

โดยเฉพาะทำเลรอบสถานีร่วม ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระหว่าง MRT ใต้ดินสีนํ้าเงินและสายสีส้มจะเป็นฮับ หรือศูนย์การเปลี่ยนถ่ายการเดินทางขนาดใหญ่ที่ดีเวลลอปเปอร์นักลงทุนจะมองหาที่ดินทำเลดังกล่าวพัฒนาหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น การเปิดประเทศ

จีนเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยรวมถึงเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวในปีนี้โดยจะเปิดในส่วนของตลาดนัดได้ก่อน แต่การก่อสร้างอาคารในส่วนอื่นจะใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 2 ปี นอกจากนี้ PF ยังมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่ฝั่งตรงข้ามที่จะพัฒนามิกซ์ยูสในปีนี้ โดยคาดว่าปี 2567จะวางแผนพัมนาต่อเนื่องแต่จะเป็นรูปแบบไหนต้องศึกษาอีกครั้ง

นายวงศ์กร อธิบายต่อว่าสำหรับที่ดินโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพและขยายการพัฒนาค่อนข้างสูงตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐและความต้องการของผู้บริโภค จนยกระดับให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ไล่มาตั้งแต่ย่านมักกะสัน ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี เตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางไฟแนนเชียล ถัดมาเป็นแยกพระราม9 -รัชดาฯบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือCPN มีแผนพัฒนามิกซ์ยูส รวมถึงที่ดินแปลงของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)หรืออสมท. หลังศูนย์วัฒนธรรมฯที่นำออกประมูลให้เอกชนพัฒนา

วันนี้" พระราม9-รัชดาฯ "ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ตลบอบอวลไปด้วยคลื่นความร้อน !!!

ที่ดินบมจ.พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค ประกาศพัฒนามิกซ์ยูส ปี2566

พลิกโฉม "พระราม9-รัชดาฯ"ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ที่ดินพุ่งวาละ 2 ล้าน