ตอกเข็ม รถไฟฟ้าสาย“สีม่วงใต้”บูมทำเลทอง ดันราคาที่ดินพุ่งวาละล้าน

13 ส.ค. 2565 | 10:27 น.

ตอกเสาเข็ม เดินหน้ารถไฟฟ้า”ม่วงใต้” 8.2หมื่นล้าน ดีเวลลอปเปอร์ปักหมุดคอนโดคึก โฟกัส ทำเลสามเสน เกียกกาย ขณะ เตาปูน บางซื่อราคาที่ดินพุ่งล้านบาทต่อตร.ว.

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กดปุ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6กิโลเมตร มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาทโดยช่วงแรกเริ่มตอกเข็มบริเวณถนนสามเสน หน้าหอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่16 สิงหาคม 2565เป็นต้นไป คาดว่า ทั้งเส้นทางจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2570 

 

 

ส่งผลให้ ตลอดแนวมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ปักหมุดขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะทำเลบนถนนสามเสน  เขตบางซื่อ  ย่านชุมชนเก่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างบมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LH) อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ เดอะรูม สามเสน  จำนวน5อาคาร มูลค่า 15,000 ล้านบาท  ที่ดินทำเลทองติดแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดินโรงเลื่อยเก่า17ไร่เศษซึ่งเป็นที่ดินแปลงเก่าแก่หายากในย่านดังกล่าว

 

 

ประกอบด้วย ทาวเวอร์เอ สูง 43 ชั้น จำนวน 636 หน่วย ทาวเวอร์บี สูง 52 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สูงสุด 52 ชั้น รองรับกลุ่มคนที่จะเข้าพื้นที่ ทั้งอาคารรัฐสภาตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงโดย บริเวณรอบสถานีอาคารรัฐสภา เกียกกาย มีปริมาณคนเข้าใช้พื้นที่นับหมื่นคน  รวมถึง ทำเลที่มีศักยภาพสูงจุดตัดสถานีเตาปูน ระหว่างสายสีน้ำเงิน  สายสีม่วงใต้และสายสีม่วงเหนือ(บางใหญ่-บางซื่อ)

 

 

 

ปัจจุบัน มีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่เปิดรออยู่ก่อนแล้ว ขณะราคาที่ดินขยับสูงสวนทางสถานการณ์โควิดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3เท่า   นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ระบุว่าสายสีม่วงใต้ ช่วยขยับราคาที่ดินให้ปรับสูงขึ้น จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 1.5-2 แสนบาทต่อตารางวา บนถนนสามเสน

 

 

อนาคตวิ่งไปได้ที่ 5-6 แสนบาท เท่ากับสถานีบางโพ มีกระแสข่าวว่า ที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีแผนนำที่ดินออกขาย มีผู้ประกอบการอสังหาฯให้ความสนใจ

 

 

 

ขณะ ทำเลสถานีเตาปูน ,บางซื่อทำเลยอดฮิต อนาคตทะลุ1ล้านบาทต่อตารางวาปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 แสนบาทต่อตารางวาแล้ว มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 หน่วย ทำเลดาวคะนอง พระปะแดง พระราม 2 ราคาที่ดินขยับขึ้นจากตารางวาละ 1แสนบาท เป็น 2-3 แสนบาท ต่อตารางวา

 

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ เส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้พาดผ่านมีความหลากหลาย

 

 

รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งสายที่เปิดให้บริการแล้ว และที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้าง

 

 

อีกทั้ง การพัฒนาพื้นที่จะกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านมีความคึกคักขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะเดียวกันเม็ดเงินจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เข้าสู่ภาคก่อสร้างถึง 8.2 หมื่นล้านบาท ภาคก่อสร้างรับอานิสงส์จากเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท

 

 

เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง เม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2022-2027

 

 

โดย EIC ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 ราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี โดยเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน

 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ยังกระจายเม็ดเงินสู่ผู้รับเหมารายย่อยและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง 6.4 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างไม่เพียงแต่เป็นโอกาสแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เท่านั้น แต่เม็ดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ยังกระจายไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้ส่งต่องานก่อสร้างที่ซับซ้อนไม่มากให้แก่ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ที่เป็น SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างล้วนได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปริมาณมาก ทั้งปูนซีเมนต์ เหล็ก สายไฟ สายเคเบิล วัสดุด้านสถาปัตยกรรม

 

 

โดย EIC ประเมินว่า เม็ดเงิน 63,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง