ต้นทุนโซลาร์รูฟท็อปพุ่ง เสนาฯ แนะรับซื้อ 4 บาทต่อหน่วย จูงใจติดตั้ง

09 ก.ค. 2565 | 05:42 น.

แผงโซลาร์เซลล์พุ่ง เหตุจีนลดการผลิต ค่าบาทอ่อน ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ดันต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อฟปรับราคาตาม เสนาฯ ชี้ทางออกส่งเสริมผลิตไฟใช้เอง รัฐต้องปรับอัตรารับซื้อไฟส่วนเหลือใช้เป็น 4 บาทต่อหน่วย หวังจูงใจให้ประชาชนติดตั้งเพิ่ม

 

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ที่กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายส่งเสริมให้บ้านอยู่อาศัยติดตั้ง เพื่อการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยลดค่าไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) กลางวัน และมีไฟฟ้าเหลือใช้ขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่จูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการ

 

เห็นได้จากยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ปี 2562 -2564 ในส่วนของ กฟน. มีผู้ร่วมโครงการรวม 629 ราย รวมกำลังผลิตปริมาณ 3.567 เมกะวัตต์ และในส่วนของกฟภ.มีผู้เข้าร่วมโครงการ 953 ราย รวมกำลงผลิต 4.724 เมกะวัตต์ เท่านั้น แม้ว่าจะการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่เป็น 2.20 บาทต่อหน่วยแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังไมได้รับความสนใจเมื่อเทียบกับเป้าหมายการรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์

 

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือเสนา (SENA) ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นทุนในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ปรับตัวสูงขึ้นมากจากที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เซนต์ต่อวัตต์ ล่าสุดขยับมาสู่ 30 เซนต์ต่อวัตต์ เป็นผลจากความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่จีนในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้ลดการผลิตลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์จากกระบวนการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงการนำเข้าแผงโซลาร์จึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้การผ่อนค่าติดตั้งโซลาร์ (ไฟแนนซ์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

 

เกษรา  ธัญลักษณ์ภาคย์

 

ทั้งนี้ แม้จะมีการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ พยายามที่จะปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยตํ่ามากกับโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพราะต้องดำเนินการในทิศทางการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน “Carbon neutrality” เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก และยิ่งต้นทุนติดตั้งที่สูงขึ้นเวลานี้อีก อาจจะไม่จูงใจให้มีการติดตั้งเพิ่มขึ้น

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าวแล้ว แม้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ถือว่าค่อนข้างมั่นคง แต่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าตกดับ เกิดขึ้นน้อยมาก ประกอบกับไม่มีภัยธรรมชาติ จึงทำให้ความสนใจคนไทยไม่ได้ตื่นตัวที่จะมองเห็นถึงความจำเป็นในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไว้ใช้เพิ่มเติม หากเทียบกับประเทศอื่นๆ 

 

ดังนั้น หากรัฐจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายปีละ 10 เมกะวัตต์ หลักการดำเนินงานง่าย ๆ คือ ควรจะปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อที่เหลือใช้ เท่ากับราคาที่ประชาชนต้องซื้อไฟฟ้าจากกฟน.และกฟภ.ในอัตราที่ 4 บาทต่อหน่วย จะเป็นการจูงใจให้บ้านอยู่อาศัยมาติดตั้งมากขึ้นได้

 

“ค่าไฟขณะนี้ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ถ้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง ก็เท่ากับว่าประหยัดค่าไฟฟ้าไป 4 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อมีไฟฟ้าเหลือขายเข้าระบบ รัฐก็ควรจ่ายเงินคืน 4 บาทต่อหน่วย เช่นกัน เป็นการสื่อสารแบบเข้าใจง่ายๆ เพราะการติดโซลาร์รูฟท็อป จะคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยข้างต้น ที่ต้องมาคำนวณดูว่ากลางวันใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่เท่าไร ช่วยประหยัดได้มากน้อยแค่ไหน  กี่ปีถึงจะได้คืนทุน จึงเป็นสิ่งที่คาดคะเนไว้ทั้งนั้น”

 

ดร.เกษรา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเสนาฯ ได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกบ้านทุกโครงการ ทั้งประเภทบ้านที่อยู่อาศัย และคอนโดมิเนียมบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง โดยมี บริษัท เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ในเครือที่ดำเนินธุรกิจเพื่อติดตั้ง ให้คำปรึกษา และการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบโดยวัสดุมีคุณภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ และแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์ โดยในปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีลูกบ้านยื่นเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ทั้งหมด 295 ราย คิดเป็น 891.67 กิโลวัตต์ ซึ่งที่เปิดรับเพิ่ม ปี 65 จะยื่นเดือนก.ย.นั้น

 

“ลูกบ้านของเสนาฯยังสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้คืนให้กับภาครัฐ โดยเสนาฯเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านในโครงการที่พร้อมเสนอขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปี 2565 นี้เพิ่มเติมในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น หากรัฐมีการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากส่วนเหลือใช้ จะจูงใจประชาชนสนในมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เพราะจะช่วยลดภาระจากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทะลุ 4 บาทต่อหน่วยในช่วงปลายปีนี้”