"ภาษีที่ดิน" จุดพลุอาชีพใหม่ รับจ้างปลูกกล้วย

18 พ.ค. 2565 | 05:20 น.

วิกฤตเก็บภาษีที่ดิน ปี 2565 เต็ม 100% จุดพลุอาชีพใหม่ รับจ้างปลูกกล้วย ช่วยเจ้าของที่ดินลดค่าใช้จ่าย ด้านหอฯอุดรยื่นหนังสือขอลดจัดเก็บลง 90%อีก 2 ปี

 

 การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 ในอัตราเต็ม100%ไม่มีลดหย่อน สร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับผู้ถือครอง ทั้งผู้รับมรดก แลนด์ลอร์ดใหญ่ บริษัทพัฒนาที่ดิน หากไม่พัฒนาปล่อยรกร้างไม่ทำประโยชน์จะอยู่ในข่ายเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3% หากมูลค่าที่ดิน 10 ล้านบาทจะเสียสูงถึง  3 หมื่นบาทต่อปี

 

ส่งผลให้ที่ดินแทบทุกแปลง พลิกหน้าดินลงพืชผลทางการเกษตร ลดภาระค่าใช้จ่ายทางภาษี เพราะที่ดินประเภทเกษตร กรรมอัตราเสียภาษีที่ดิน 0.01% มูลค่า10 ล้านบาท เสียภาษีหลักพันบาทเท่านั้น

มองว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก แต่ปัญหาใหญ่ หากเจ้าของที่ดินไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ไม่มีเวลาดูแล หมั่นลดน้ำพรวนดิน จะทำให้พืชผลทางการเกษตรล้มตายเกิดวัชพืชขึ้นปกคลุมเสียหาย ไม่ต่างจากที่ดินรกร้าง เมื่อถึงรอบปีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปตรวจสอบ ประมาณเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน

 

จะทำให้ที่ดินแปลงนั้นถูกประเมินเป็นที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ทันที เพราะ ในข้อบังคับกฎกระทรวงกระทรวงการคลังและของกระทรวงมหาดไทยระบุชัดเจนว่าที่ดินประเภทเกษตรกรรมจะต้องได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อเนื่องตลอดเวลา 

 

ทั้งนี้เท่าที่ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่มืออาชีพ ดังนั้นจึงเกิดอาชีพใหม่มีนักลงทุนสมองไวเปิดบริษัทรับดูแลพื้นที่เกษตรครบวงจร กลายเป็นธุรกิจทำเงินใหม่ที่น่าจับตา 

"ภาษีที่ดิน" จุดพลุอาชีพใหม่ รับจ้างปลูกกล้วย

ทั้งนี้ นายบุญชู  พรหมสอน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเวอร์ทีม จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการบังคับใช้ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีแนวคิดตั้งบริษัทขึ้นมารับจ้างดูแลที่ดินรกร้างเพื่อช่วยเจ้าของที่ดินลดภาระภาษีที่ดินทุกรูปแบบ โดยอาศัยประสบการณ์ด้านออกแบบตกแต่งสวน ประจำนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง

             

  โดยอธิบายว่า ที่ดินที่จะรับดูแล คิดค่าใช้จ่ายตัดหญ้า 40-50 ไร่ขึ้นไปในราคาไร่ละ 3,000 บาท ภายใน 1 ปีตัดหญ้า 4 ครั้ง  สำหรับกล้วยเป็นพืชที่มีอายุคงทนปลูกง่าย โตง่าย ตายยาก ให้ร่มเงา  รากเป็นปุ๋ยลงสู่ดิน เหมาะกับดินทุกประเภททุกจังหวัด

 

ดังนั้นจึงได้รับความนิยมสูง ในขณะหน่อกล้วยบริษัทหาซื้อในราคาหน่อละ 40 บาทและค่าปลูกลงดินอีกหน่อละ 40 บาท ทั้งนี้จากความต้องการปลูกกล้วยกันมากทำให้หน่อกล้วยที่หาซื้อกันในจังหวัดปริมณฑลเกิดขาดตลาดและมีแนวโน้มปรับราคา

 

ที่นิยมรองลงมาคือมะม่วง และที่ดินที่เป็นน้ำกร่อยอย่างจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม พืชที่เหมาะกับดินชนิดนี้คือมะพร้าวในราคาต้นละ 250 บาท

 

 

หากทำท้องร่องด้วยจะลดปริมาณจำนวนต้นที่จะปลูกลง นอกจากนี้มีที่ดินที่เป็นลักษณะคอนกรีตเททับบนที่ดินบริษัทหาทางออกให้ลูกค้าด้วยการปลูกต้นมะนาวลงในบ่อซิเมนต์

 

 

นายบุญชู สะท้อนต่อว่า ที่ดินได้รับผลกระทบมากที่สุดคือที่ดินตาบอดราคาประเมินสูงแต่ไม่สามารถเข้าไปปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ เพราะพื้นที่ถูกปิดล้อม ทำให้เสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์

 

สำหรับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ติดต่อให้บริษัทดำเนินการ ได้แก่ บริษัทพฤกษา จำกัด (มหาชน) นำที่ดิน 200 ไร่กว่า 30 แปลง รอพัฒนาโครงการกระจายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล นอกจากนี้ยังมีบริษัทค้าข้าวไทย บริษัทไทยประกันชีวิต ที่มีสะสมตามต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ต่อราย

              

เช่นเดียวกับบริษัทแลนด์มาร์คการ์เด้นเซอร์วิส จำกัด ที่ประกาศในเว็บไซต์เฟซบุ๊กรับพัฒนาที่ดินว่างเปล่า เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยมีผลงานมาแล้ว หลายพื้นที่ เช่น  อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 20 ไร่  4,200 ต้น รับประกันผลงาน

              

สำหรับประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม โดยกำหนดการปลูกพืช 51 ชนิด และสัตว์อีก 9 ชนิด ที่ถือว่าใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม

 

อาทิ กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า  200 ต้น/ไร่ กระท้อนเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ทับทิม 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ปุยฝ้าย 25 ต้น/ไร่ กาแฟ 170 ต้น/ไร่ มะม่วง 20 ต้น/ไร่ มะพร้าวแก่ 20 ต้น/ไร่ มะพร้าวอ่อน 20 ต้น/ไร่ ฯลฯ

              

ขณะความเคลื่อนไหว ผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้   หอการค้าจังหวัดอุดรธานี โดย นายวันชัย อนุตรชัชวาลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี

 

เดินทางเข้ายื่นจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อขอให้เสนอรัฐบาลชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติม จากโควิด และวิกฤตยูเครน