“อสังหา”อ่วมภาษีป้ายใหม่ถล่มซ้ำภาษีที่ดิน

06 พ.ค. 2565 | 09:34 น.

อสังหาฯอ่วม  จ่อเจอภาษีป้ายใหม่ โฆษณาขายบ้าน -คอนโดฯ ถล่มซ้ำภาษีที่ดิน แบกต้นทุนพุ่งหลายเท่า   จากต่ำสุด10บาท   เป็นอัตราสูงสุด 400 บาท  ต่อ500ตร.ชม.กรณีข้อความ-ภาพเคลื่อนไหวได้  รัฐรื้อกฎหมายภาษีป้ายปี2510 พร้อม เปิดฟังความเห็น ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

หลังจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีกระทรวงการคลังมีนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จัดเก็บเต็มในอัตรา100%ปี2565

 

 

ล่าสุดยังพบว่า ธุรกิจกิจที่ต้องใช้สื่อป้ายโฆษณาเพื่อส่งเสริมทางการตลาดต้องเสียภาษีป้ายโฆษณาในอัตราสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้ป้ายโฆษณาเชิงชวนผู้ซื้อบ้าน ที่มักชื่นชอบการติดตั้งป้ายโฆณาขนาดใหญ่และป้ายเคลื่อนไหวเปลี่ยนสีสันข้อความได้

 

โดยเฉพาะป้ายโฆษณาดิจิทัลจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จาก อัตรา 50บาทต่อ 500ตารางเซ็นติเมตรเป็นสูงสุด เป็น400 บาทต่อตารางเซ็นติเมตร 

 

 

 

 

 

 

เมื่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำภาษี ป้ายขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีป้าย (ฉบับที่…) พ.ศ...

 

 

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีป้าย พ.ศ.2510 พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การจัดทำร่างแก้ไขฯดังกล่าวระหว่างวันที่ 18 มีนาคม-18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ  เพราะกฎหมายมีความล้าสมัยบังคับใช้มากว่า55ปี

“อสังหา”อ่วมภาษีป้ายใหม่ถล่มซ้ำภาษีที่ดิน

แม้กฎหมายจะกำหนดอัตราภาษีป้ายในอัตราที่ต่ำ แต่ ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดภาระต้นทุนด้วยการใช้ป้ายเคลื่อน ที่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการว่าจ้างคน นั่ง ยืน เดินถือป้าย โฆษณา โครงการที่อยู่อาศัย ไปตามจุดต่างๆ หรือไม่ ต่างติดป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ไปตามรถยนต์ รถประจำทาง ตลอดจน บอลลูนประชาสัมพันธ์ ลอยฟ้า  บอลลูนโฆษณา อาจเรียกเก็บภาษีไม่ได้เพราะในกฎหมายอาจไม่ได้ระบุไว้ อย่างเฉพาะเจาะจง

 

เพราะบางกรณีได้รับการยกเว้น  ได้แก่1. ป้ายที่ติดในอาคาร 2.ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)3.ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดเป็นครั้งคราว4.ป้ายของทางราชการ5. ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน 6.ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ7. ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ 8.ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจากข้อ 7 พื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเซนติเมตรแต่ต่อไปอาจจะไม่ได้รับการยกเว้น

 

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า กรณี 'ภาษีป้าย' ใหม่ เป็นอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการต่างกังวล เพราะรัฐมีการกำหนดอัตราการเสียภาษี ในแนวโน้มที่สูงขึ้นนับเท่าตัว ซึ่งจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ทุกบริษัทเริ่มหนักใจ ถึงภาระหนักอีกก้อนใหญ่

 

เนื่องจาก ป้ายโฆษณาเป็นสื่อที่มีความสำคัญต่อการขายโครงการบ้าน-คอนโดมิเนียม หากมีการเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นซ้ำเติมอีก บริษัทต่างๆคงไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องลดขนาดป้าย จำนวนป้ายลง ซึ่งจะส่งผลให้ความแข็งแรงทางการตลาดด้อยลง ขายได้น้อยลง เพราะเข้าถึงลูกค้าได้น้อยลง

 

ย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐควรจะทำในเวลานี้ โดยเอกชนอยากเห็นมาตรการสนับสนุนโอกาสในการทำธุรกิจ มากกว่าเพิ่มภาระขณะปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเต็ม100 %

 

 

สำหรับการ แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510ของกระทรวงมหาดไทย  พร้อมทั้ง กำหนดประเภทป้ายและกำหนดอัตราเพดานภาษีใหม่ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมกรณีภาษีป้ายที่คำนวณได้เป็นเศษสตางค์ให้ปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาท ให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ

 

 

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการหารายได้ของอปท.ในระยะยาว ไล่ตั้งแต่ ป้ายที่มีอักษรไทยหรือตัวเลขล้วน ป้ายที่มีข้อความหรือตัวเลขที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความหรือตัวเลขได้ให้คิดอัตรา 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่นอกเหนือจากนี้ หรือตัวเลขไม่เคลื่อนไหว ให้คิดอัตรา 25 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

 

ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย ตัวเลขหรือภาพที่ขึ้นที่หรือเปลี่ยนข้อความเครื่องหมายตัวเลขหรือภาพได้ให้คิดอัตรา 400 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่นอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตรา 200 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร เป็นต้น

 

เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร ให้นับเป็น 500 ตารางเซนติเมตร ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่งให้ปัดทิ้ง ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท ค่าภาษีป้ายที่คำนวณได้เป็นเศษสตางค์ให้ปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาท

 

 

เมื่อเที่ยบกับอัตราภาษีป้ายที่ กระทรวงมหาดไทยเคยปรับไปก่อนหน้านี้เมื่อปี2564  โดยออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้าย มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่1มกราคม 2564 –30 ธันวาคม 2566  ประกอบด้วยป้ายที่มีอักษรไทยล้วน

 

ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 5 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพ หรือเครื่องหมายอื่น ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้คิดอัตราภาษีป้าย 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

 

ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 26 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

 

ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร