สรุปสถานการณ์ "คาร์บอนเครดิต" ทั่วโลก ไทยขึ้นทะเบียนใหม่ 53 โครงการ

07 พ.ย. 2566 | 09:05 น.

พามาสรุปสถานการณ์ "คาร์บอนเครดิต" ทั่วโลกว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง และอัปเดตข้อมูลคาร์บอนเครดิตล่าสุดในไทย ซึ่งพบว่า ไทยมีการขึ้นทะเบียนใหม่ 53 โครงการ

เมื่อ…ปี 2020-2021 ตลาดคาร์บอนทั่วโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2022 ตลาดคาร์บอนกลัมาเริ่มชะลอตัวลงตัวอีกครั้ง ซึ่งเกิดจากกลไกตลาดทั้งด้านอุปทาน (Supply) การรับรองเครดิตใหม่ และด้านอุปสงค์ (Demand) ของผู้ใช้เครดิตที่ปรับลดลง โดยความต้องการส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาคธุรกิจเอกชนแบบสมัครใจ
ในขณะที่ความต้องการจากภาคบังคับเริ่มมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2022 มีการรับรองคาร์บอนเครดิตลดลงประมาณ 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากมาตรฐานอิสระ (Independent crediting mechanism) ซึ่งหน่วยงานที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตจะเป็นองค์กรอิสระ เช่น Verified Carbon Standard, Gold Standard มีจำนวน 275 MtCO2eq คิดเป็น 58% จากปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองทั้งหมด 475 MtCO2eq ขณะที่มาตรฐานระหว่างประเทศ (International crediting mechanism) ซึ่งหน่วยงานที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตคือ UNFCCC เช่น โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เติบโตขึ้น คิดเป็นประมาณ 30%

ทั้งนี้คาร์บอนเครดิตของโครงการ CDM สามารถใช้เพื่อการชดเชยในเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ได้ นอกจากนี้มาตรฐานภายในประเทศ (Domestic crediting mechanism) ซึ่งหน่วยงานที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตจะเป็นภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) รับรองโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ The Compliance Offsets Program รับรองโดย California Air Resources Board

สำหรับประเทศไทย อบก.ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2022 อบก. ได้ขึ้นทะเบียนโครงการใหม่ จำนวน 53 โครงการซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โดยในจำนวนนี้มีโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวขึ้นทะเบียน 23 โครงการ
สรุปสถานการณ์คาร์บอนเครดิตทั่วโลก

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน อบก. ได้ให้การรับรองคาร์บอนทั้งหมด 4,673,841 tCO2eq จาก 59 โครงการ คิดเป็น 0.9% ของการรับรองคาร์บอนเครดิตทั่วโลก ซึ่งมาจากโครงการประเภทพลังงานทดแทนมากที่สุดกว่า 40% และรองลงมาเป็นประเภทพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสียกว่า 33% ส่วนโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวยังไม่มีการรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติมในปี 2022 นี้ ซึ่งทิศทางการขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองคาร์บอนเครดิตของไทยสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามมีหลายๆ ประเทศเริ่มพัฒนามาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อการชดเชยในระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาษีคาร์บอน แบบสมัครใจจากภาคเอกชน และภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6 (Paris Agreement Article 6) ได้โดยคาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองส่วนใหญ่มาจากประเภทพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) สัดส่วนกว่า 55% ซึ่งปัจจุบันต้นทุนในการทำโครงการประเภทนี้เริ่มถูกลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
สรุปสถานการณ์คาร์บอนเครดิตทั่วโลก

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้หลัก Financial additionality เพื่อดึงดูดให้ทำโครงการ ซึ่งส่งผลให้โครงการที่ขึ้นทะเบียนใหม่ๆ ของประเภทพลังงานหมุนเวียนจะเริ่มลดลง ขณะที่สถิติการขึ้นทะเบียนโครงการใหม่ประเภทป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Forestry and land use) มีสัดส่วนกว่า 54% ซึ่งจะส่งให้ผลการรับรองคาร์บอนเครดิตที่มาจากประเภทนี้มีมากขึ้นเป็นหลักในอนาคต เพราะผู้พัฒนาโครงการทราบดีว่าคาร์บอนเครดิตจากโครงการเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือโครงการที่สามารถกักเก็บไว้ได้ในระยะยาว สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนมุ่งสู่ง Net Zero ได้ ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตประเภทนี้สูง

ขณะที่ด้านอุปสงค์รายงานจาก Ecosystem Marketplace พบว่า มีการใช้คาร์บอนเครดิต (Retirement) ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.3% แต่ยังคงสูงกว่าปี 2019 และ ปี 2020 กว่า 140% และ 70% ตามลำดับ โดยปี 2022 นี้มีการใช้คาร์บอนเครดิตประมาณ 196 MtCO2eq โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ในภาคสมัครใจ และข้อมูลจากภาครัฐระบุว่าประมาณ 43 MtCO2eq ใช้ในภาคบังคับ


ทั้งนี้การใช้คาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่มาจากโครงการประเภทพลังงานหมุนเวียน คิดเป็น 52% ซึ่งเป็นประเภทที่มีขายอยู่มากที่สุดในตลาดคาร์บอนและมีราคาถูก สัดส่วนอีกกว่า 30% มาจากโครงการประเภทเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากอุปกรณ์ในครัวเรือน (Household device) เช่น Clean cookstove เป็นผลมาจากผู้ซื้อคำนึงถึงผลประโชน์ร่วม (Co-benefit) ที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าราคาเครดิตประเภทนี้จะสูงกว่าประเภทอื่นๆ ก็ตาม นอกจากนี้ข้อมูลจาก Allied Offsets ระบุว่าผู้ซื้อ มีแนวโน้มที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตที่มี Vintage year หรือปีที่ได้รับการรับรองใหม่กว่า โดยเฉพาะกลุ่ม Vintage year หลังปี 2016 มีอัตราการใช้สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มาข้อมูล :
•    https://openknowledge.worldbank.org/entities/publication/58f2a409-9bb7-4ee6-899d-be47835c838f
•    https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-database-and-statistics/t-ver-project-stat-report.html
•    https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-database-and-statistics/t-ver-stat-carbon-report.html