ถอดโมเดล “ลุ่มน้ำห้วยหลวง”

20 มี.ค. 2566 | 10:49 น.

ถอดโมเดล “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” เปลี่ยนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก กักเก็บน้ำใช้หน้าแล้ง

“ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง”  เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี มีพื้นที่ประมาณ 2,160 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.อุดรธานีและหนองคาย ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม แอ่งกระทะใกล้แม่น้ำโขงในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวง ทำให้มวลน้ำในลำน้ำห้วยหลวงไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่กว่า 90,000 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 250 ล้านบาท/ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาอย่างยาวนาน 

โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี รวม 29,835 ครัวเรือน พร้อมทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดหนองคาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง

กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 มีแผนดำเนินโครงการ 9 ปี (ปี2561 – 2569)  ประกอบไปด้วย งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อัตราการสูบน้ำรวม 150 ลบ.ม./วินาที มีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณ 46% งานปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิม ความยาว 18.6 กิโลเมตร และงานปรับปรุงประตูระบายน้ำ(ปตร.)ตามลำน้ำสาขา 3 แห่ง คือ ปตร.ปากโพง ปตร.หนองผักไหมล่าง และปตร.หนองบุ้งแย้ ดำเนินงานเสร็จแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 

นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้าง ปตร.ในลำน้ำสาขาอีก 8 แห่ง ได้แก่ ปตร.ในลำน้ำสาขาฝั่งซ้าย ปตร.ในลำน้ำสาขาฝั่งขวา งานก่อสร้าง ปตร.ในลำน้ำห้วยหลวง 3 แห่ง (ปตร.ดงสะพัง ปตร.หนองสองห้องพร้อมสถานีสูบน้ำ และปตร.ดอนกลอยพร้อมสถานีสูบน้ำ) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และในส่วนของแก้มลิงในลำน้ำสาขา 20 แห่ง อยู่ระหว่างการออกแบบ ส่วนงานระบบชลประทาน 13 โครงข่าย และอีก 42 สถานีสูบน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ รวมไปถึงงานระบบควบคุมอุกทกภัยแบบอัจฉริยะ (Smart Flood Control System) ซึ่งเป็นระบบแสดงข้อมูล และประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อการพยากรณ์อากาศและการเกิดอุทกภัย


 

อย่างไรก็ดี หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ในเขต จังหวัดหนองคาย และ อุดรธานี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยึดถือประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ จะช่วยสร้างความสุขและความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่ชุมชนได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีน้ำเพียงพอที่จะใช้รักษาระบบนิเวศน์ ตลอดจนเป็นแหล่งประมงสำหรับเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและเป็นรายได้เสริม และเป็นยังแหล่งพักผ่อนหย่อนใจส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
    
กว่าจะมาถึงวันนี้ “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” สามารถถอดบทเรียนให้พื้นที่อื่นนำไปเป็นโมเดลเปลี่ยนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก กักเก็บน้ำใช้หน้าแล้ง