ทิศทางเทคโนโลยีพลังงานปี 66

17 ม.ค. 2566 | 10:35 น.

ทิศทางเทคโนโลยีพลังงานปี 66 “นโยบายยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 เดินหน้าลดคาร์บอน”

ตามที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่า กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานแผนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และเลขานุการร่วมของบอร์ดอีวี พร้อมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมมือเร่งเดินหน้าพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด Supply Chain ของอุตสากรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ของประเทศ 

โดยได้กำหนดนโยบายและวางแผนขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรมบรรลุตามนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด โดยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีหัวจ่ายแบบ Fast Charge จำนวน 12,000 หัวจ่ายทั่วประเทศ และจะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีติดตั้งการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศ (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะหรือในปั๊มให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และยังเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและลงทุนแบตเตอรี่ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ และจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติด้วย