ชะตา‘บิ๊กตู่’ เดินไต่เส้นลวด

24 ก.ย. 2564 | 02:30 น.

ชะตา‘บิ๊กตู่’ เดินไต่เส้นลวด : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,717 หน้า 12 วันที่ 26 - 29 กันยายน 2564

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ พี่น้อง 2 ป. “ป.ประยุทธ์”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.64 ที่ผ่านมาเป็นไปตามคาด ที่มีการเกณฑ์ ส.ส.ให้ไปต้อนรับ คล้ายๆ กับว่า เป็นการ “แสดงพลัง” ของคน 2 ขั้ว 2 กลุ่มในพรรคพลังประชารัฐ 

 

และไม่เหนือความคาดหมาย เพราะ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่มีการอ้างว่ามีถึง 55 คน แห่ไปร่วมคณะกับ “บิ๊กป้อม” หัวหน้าพรรค มากกว่า ส.ส.ที่ไปร่วมคณะกับ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี ที่มีราว 10 คน 

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เหตุที่ ส.ส.ไปร่วมคณะกับนายกฯ  น้อย เพราะนายกฯ ไม่ได้จัด ส.ส. ร่วมลงพื้นที่ด้วย ซึ่งดูได้จากการลง พื้นที่หลายปีที่ผ่านมา นายกฯ แทบจะไม่ได้มี ส.ส.ยกคณะลงพื้นที่ด้วยเลย จะมีก็แค่ ส.ส.เจ้าของพื้นที่ หรือจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ต่างจาก พล.อ.ประวิตร ที่สวมหมวกหัวหน้าพรรค จะไปไหน ก็จะมี ส.ส.ไปร่วมลงพื้นที่ด้วยเสมอ

 

ชะตา‘บิ๊กตู่’ เดินไต่เส้นลวด

 

 

3 ป.แตก ยากสมานแผล

 

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” ผ่านเนชั่น ทีวี ว่า ไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว

 

ศ.ดร.ไชยันต์ ชี้ว่า 3 ป. น่าจะแตกกันแล้ว โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” กับ “บิ๊กตู่” เพราะจากบทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พี่น้องทหารหาญที่ว่ารักกันเหนียวแน่นแค่ไหน คติ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” จะยังคงใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีศัตรู หรือมีภยันตรายร่วมกันเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่การเมือง และสิ่งที่เรียกว่า “ศัตรูหรือภยันตรายร่วมกัน” นั้น ถูกมองต่างกันไป ความสมานสามัคคีก็จะลงเอยด้วยสัจธรรมทางการเมืองที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”

 

ศ.ดร.ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า แผนโหวต “ล้มนายกฯ” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา น่าจะเป็นเรื่องจริง และ “บิ๊กป้อม” ก็น่าจะรู้อยู่ แต่ไม่สามารถกระซิบข้างหู พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลาออกได้ เนื่อง จากนายกฯ ให้ความสำคัญกับตัวตนและการพิสูจน์ตัวเองในสนามการเมืองจึงเข้าข่ายดันทุรังอยู่ต่อไป

 

ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร มองตัวเองในฐานะที่เป็นผู้ส่งให้ “น้อง” ขึ้นเป็นนายกฯ ก็อยากจะทำให้พรรคพลังประชารัฐ มีอนาคตมากกว่าจะมาติดหล่มกับ “บิ๊กตู่” ที่คะแนนนิยมลดน้อยลง บรรดา ส.ส.ลูกพรรค ก็จะพลอยหมดอนาคตในการเลือกตั้งคราวหน้าไปด้วย

 

ศ.ดร.ไชยันต์มองว่า “บิ๊กตู่” คิดว่าตัวเองต่างหากที่พาให้พลังประชารัฐเข้าวินในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นี่คือมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้น ขณะนี้ 3 พี่น้อง และลูกพรรคพลังประชารัฐ จึงอยู่ในสภาพ “คนเดินไต่ลวด” คือ ถอยไม่ได้ แต่การเดินหน้าต่อไป จะไปถึงจุดหมายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าพลาดก็เหว 

 

“อยากตั้งคำถามว่า “บิ๊กป้อม” และ ส.ส.พลังประชารัฐ จะเลือกรักษาพลังประชารัฐ หรือ รักษานายกฯ ที่ไม่ใช่แม้แต่หัวหน้า หรือ สมาชิกพรรคเพราะต้องยอมรับว่า “สัญญาณพรรคแตก” มาจากคะแนนนิยมของนายกฯที่ตกตํ่าด้วย ถ้านายกฯ ยังดูดคะแนนเสียงได้ พรรคไม่แตกแน่นอน ความบาดหมางระหว่าง 3 ป. จึงมีจริงและยากจะสมาน” อาจารณ์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้ระบุ

 

“3 ป.” หวานอมขมกลืน 

 

ด้าน ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เปรียบความสัมพันธ์ของ “3 ป.” ในปัจจุบัน เสมือนคำพังเพยที่ว่า “หวานอมขมกลืน” จากแต่ก่อนที่เป็นแบบ “รักกันปานจะกลืน” แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เรียกว่านํ้าผึ้งหยดเดียว คือ การที่นายกฯปลดมือขวาในการทำงานการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ออกจากความเป็นรัฐมนตรี และพ่วงด้วย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ซึ่งเป็นทีมใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

 

แม้ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. จะไม่ถึงกับแตกหักแบบ “ไม่เผาผีกัน” แต่ต้องยอมรับว่า นํ้าผึ้งเพียงแค่หยดเดียวย่อมเปลี่ยนความรักกันปานจะกลืน มาสู่หวานอมขมกลืนได้เช่นกัน สถานการณ์ขณะนี้ความสัมพันธ์จะไม่ขาดสะบั้น แต่ก็ทำให้เกิดรอยปริรอยแยกในความสัมพันธ์ เกิดความสั่นคลอน

 

“หากมองในระยะยาว เส้นทางของ 3 ป.ยังจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกันเพื่อครองอำนาจให้ดำรงอยู่ต่อไปฉะนั้นแม้ในอนาคตบิ๊กตู่ จะไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว แต่หากบิ๊กป้อม ยังคุมอำนาจผ่านพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้อยู่ ก็ย่อมจะต้องปกป้อง บิ๊กตู่ ไม่ให้ถูกเสือกัดได้ หมายถึงลงจากอำนาจได้อย่างปลอดภัย ไม่โดนตามเช็กบิล”

 

ขณะเดียวกัน สุดท้าย ด้วยความจำเป็นทางการเมือง ที่อาจทำ ให้ความสัมพันธ์ของ 3 ป. สะวิงกลับมารักกันปานจะกลืนกินได้เหมือนเดิมเพราะทั้ง 3 คนต่างรู้ดีว่า “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย”

 

“บิ๊กตู่”เปลี่ยนนั่งร้านเก่า

 

ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรว่า ไม่ได้ทำให้อำนาจของ 3 ป. จบ ลง เพราะสุดท้ายหลังเลือกตั้ง ก็ตั้งรัฐบาลชุดใหม่จับมือได้

 

“แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจพลังประชารัฐ ปล่อยให้ พล.อ.ประวิตรดูแล ขณะที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไปตั้งพรรคใหม่ แต่อาจไม่แข็งแรงเท่าพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็จับกลุ่มการเมืองเองได้ อย่างเช่น ประชาธิปัตย์หรือ ภูมิใจไทย แต่ที่ต้องยอมรับ คือคนของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง พล.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ลงรอยกันแน่นอน ทำให้ส.ส.ต้องเลือก เพื่ออนาคตทางการเมืองอันสดใส”

 

ดร.สติธร ชี้ว่า แม้ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รักกันดี แต่เมื่อคน 2 ฝ่ายไม่ถูกกัน ทำให้การเมืองเป็นเนื้อเดียวกันยาก หากคิดว่าขัดแย้ง ก็ถือเป็นเรื่องดีของทั้งคู่ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้หลุดภาพที่มีนั่งร้านเป็นพลังประชารัฐ 

 

“เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันเงื่อนไขต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่คนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ ก็จำใจต้องเลือกนั่งร้านนี้ไปด้วยแต่ขณะนี้ไม่จำเป็นให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ แต่แค่ไม่ต้องการนั่งร้านเดิม” ดร.สติธร ระบุ 

+++++++++

 

สภาล่มสัญญาณอันตราย"บิ๊กตู่"

 

“ถ้า พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  กล่าวถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 21 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา 

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่ 2 จะเปิดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ เมื่อเปิดสภาฯแล้ว กฎหมายสำคัญๆ ที่เข้าสู่สภา ก็ต้องอาศัย“เสียงของ ส.ส.” ในการผ่านกฎหมาย 

 

ปัญหาสำคัญคือ ความแตกแยก-รอยร้าว ที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ จะก่อให้ เกิดความหนักอกกับ “นายกฯลุงตู่” ในการผ่านกฎหมาย หากกฎหมายไม่ผ่านแล้ว “บิ๊กตู่” จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร

 

ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุ “สภาล่ม” จนทำให้การประชุมสภาฯ ต้องถูกยกเลิกบ่อยครั้ง นับเป็น “สัญญาณอันตราย” อย่างยิ่งสำหรับสถานภาพของ “บิ๊กตู่”  

 

ในรอบเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุ “สภาล่ม” มาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่ง ครม.เสนอ ครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ก.ย. ระหว่างพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม วาระ 2 และ ครั้งที่ 3 วันส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา เมื่อ 17 ก.ย. ระหว่างพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ วาระรับหลักการ 

 

ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร มีส.ส.อยู่ 480 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 270 เสียง และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 210 เสียง 

 

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า รัฐบาลจากนี้ไปจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะมีกลุ่มกบฏของ ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ 40 ส.ส. โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา การประชุมรัฐสภาล่ม เพราะกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่เข้า นี่คือสัญญาณว่ามีปัญหา 

 

“การที่ 40 ส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ทำสภาล่มได้ แล้วสมัยประชุมหน้า จะมีกฎหมายการเงินเข้าสภาอีก รัฐบาลมีเงินกู้ก้อนสุดท้าย 5 แสนล้านบาท เชื่อว่ากฎหมายการเงินเข้าเมื่อไร รัฐบาลก็ไปเมื่อนั้น”