เปิดแผนธุรกิจ ARUN + สร้าง Ecosystem ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าโลก

25 พ.ย. 2565 | 03:00 น.

อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับตลาด เพื่อตอบโจทย์การสร้างอีโคซิสเต็มอีวีในประเทศ โดยหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ คือ “อรุณ พลัส” ที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ในการผลักดันระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริง

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก กำลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีน กลุ่มประเทศยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นโอกาสและความท้าทาย ที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อตอบรับกับตลาด โดยกลุ่ม ปตท. พี่ใหญ่ในธุรกิจพลังงาน ที่ปรับตัวหลายด้าน เพื่อตอบโจทย์การสร้างอีโคซิสเต็มอีวีในประเทศ โดยหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ คือ “อรุณ พลัส” ที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ในการผลักดันระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

 

"อรุณ พลัส" คือใคร

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้พูดคุยกับ "เอกชัย ยิ้มสกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กับบทบาทหน้าที่ และการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

 

"เอกชัย" ให้ข้อมูลว่า ARUN PLUS (อรุณ พลัส) เป็นบริษัทไทย และ เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 100% ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อดำเนินธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตามวิสัยทัศน์ของ ปตท. พร้อมส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เรียกว่า "อรุณ พลัส" คือ ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สร้างระบบอีโคซิสเต็มด้านยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่การผลิตรถทั้งคัน การหาพาร์ทเนอร์ การขยายตลาด ไปจนถึงการสร้างสถานีชาร์จ เพื่อทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนไปได้จริง 

 

เปิดแผนธุรกิจ ARUN + สร้าง Ecosystem ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าโลก

เปิดโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

แผนการขับเคลื่อนอีโคซิสเต็ม ที่เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า "เอกชัย" เล่าว่า อรุณ พลัส จะลงทุนผ่าน "บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด" ซึ่งเป็น บริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ ฟ็อกซ์คอนน์ เพื่อทำหน้าที่สร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งขณะนี้ ซื้อที่ดินไว้เรียบร้อยแล้ว ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรี และอยู่ระหว่างการออกแบบตัวโรงงาน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2565 

 

ส่วนรูปแบบรถยนต์ที่ผลิต จะสามารถผลิตรถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ลูกค้าต้องการ และแบบที่ใช้แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปจาก FOXCONN โดยแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ FOXCONN เป็นเทคโนโลยี MIH platform หรือ Open EV Platform ซึ่งเป็นโครงช่วงล่างของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับแต่งให้เข้ากับรถยนต์ได้หลายประเภท ทำเป็นรถยนต์นั่งในขนาดต่างๆ รวมไปถึงรถยนต์แบบอเนกประสงค์ ทำให้ลูกค้าสามารถประหยัดต้นทุน และประหยัดเวลาในการคิดวางระบบโครงสร้าง สามารถนำงบประมาณและเวลาไปโฟกัสกับเรื่องของดีไซน์และซอฟแวร์ได้อย่างเต็มที่

 

โรงงานแห่งนี้ มีพื้นที่ 313 ไร่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"เอกชัย" ยังบอกอีกว่า ฮอริษอน พลัส พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ที่มีความสนใจในการพัฒนารถ EV ต้นแบบ และการสนับสนุนการผลิตรถ EV ในประเทศไทยและภูมิภาค ในรูปแบบรถยนต์ 4 ล้อ ทั้งรูปแบบพวงมาลัยขวาและพวงมาลัยซ้าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งาน EV ได้สะดวกและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต

 

"โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจ จะเป็นแบบการรับจ้างผลิต หรือ OEM ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับ OEM Brand จากต่างประเทศหลายราย ทั้งในจีน และยุโรป ที่มีความสนใจและมีแผนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV รวมถึงสนใจจะเข้ามาเปิดตลาด EV ในประเทศไทย"

 

เปิดแผนธุรกิจ ARUN + สร้าง Ecosystem ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าโลก

 

เสริมความแกร่งต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

ในอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอรุณ พลัส ไม่ได้มีแค่เพียงโรงงานผลิตรถยนต์เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ระบบการควบคุมรถ แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ "เอกชัย" บอกว่า อรุณ พลัส กำลังเร่งสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตระดับโลก เพื่อเสริมศักยภาพและสร้างความมั่นใจให้กับค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่จะเข้ามาใช้บริการของอรุณ พลัส 

 

"รวมไปถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเรามีแบรนด์ on-ion ที่ทำเรื่องจุดชาร์จ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่นอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า และกำลังขยายโครงข่ายออกไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ บริษัท  ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR อีกหนึ่งในกลุ่ม ปตท. ก็กำลังขยายสถานีชาร์จไปตามสถานีบริการน้ำมันต่างๆ อย่างเต็มที่" 

 

"เอกชัย" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า นิยมการชาร์จไฟรถยนต์ที่บ้านมากกว่า ยกเว้นเมื่อเดินทางไกลไปต่างจังหวัด จึงจะต้องใช้สถานีชาร์จตามสถานีชาร์จสาธารณะ การขยายสถานีชาร์จในปั้มน้ำมันของ OR และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสถานที่อื่นๆ นอกปั้มน้ำมันของ on-ion จึงเป็นการเติมเต็มการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จากการที่ได้เก็บข้อมูลมา พบว่าคนส่วนใหญ่นิยมชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วย DC มากกว่า AC อรุณ พลัส จะนำข้อมูลเหล่านี้ มาพัฒนาการลงทุนสถานีชาร์จที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่

 

เปิดแผนธุรกิจ ARUN + สร้าง Ecosystem ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าโลก

 

EVme เพิ่มช่องทางการตลาดค่ายรถ

ส่วนของปลายน้ำ "เอกชัย" เล่าว่า อรุณ พลัส มี EVme แพลตฟอร์มในการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า ที่เปิดโอกาสให้ค่ายรถยนต์ที่สนใจ สามารถนำรถยนต์มาให้เช่าผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ด้วย

 

จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค "เอกชัย" เล่าว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมาก เริ่มมองรถยนต์เป็นเพียงบริการยานพาหนะ ที่จะพาคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ไม่ได้มองเป็นสินทรัพย์เหมือนที่ผ่านมา และพวกเขาจะยอมจ่ายเงินก็ต่อเมื่อได้ใช้เท่านั้น (Mobility on Demand) เพราะฉะนั้น แพลทฟอร์ม EVme จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ ที่ไม่ต้องการซื้อรถมาจอดทิ้งไว้เฉยๆ หากไม่ได้ใช้งาน และในกลุ่มขอคนที่ไม่อยากเสียเงินซื้อ แต่ยอมที่จะจ่ายเงินเช่า เพื่อนำรถมาใช้งาน อรุณ พลัส จะใช้โอกาสทางการตลาดนี้ ต่อยอดธุรกิจและบริการที่หลากหลายในอนาคต

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ "เอกชัย" ยังเล่าอีกว่า แพลทฟอร์ม EVme มีโอกาสที่จะเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ในแผนการพูดคุยกับค่ายรถต่างๆ หากค่ายรถมองว่านี่คือช่องทางทำการตลาดออนไลน์ อรุณ พลัส ก็สามารถสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับพาร์ทเนอร์เหล่านั้นได้  โดยตอนออกแบบ EVme ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบริการทดลองใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ที่ทุกคนสามารถทดลองใช้ได้ ตั้งแต่ระยะสั้น 3-7 วัน หรือระยะยาวเป็นปี

 

ปัจจุบัน อรุณ พลัส มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่าราว 400 คัน มีอัตราการเช่าอยู่ที่ 80% และมีแผนในการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาด

 

เปิดแผนธุรกิจ ARUN + สร้าง Ecosystem ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าโลก

 

แผนในอนาคตของ อรุณ พลัส ที่ครอบคลุม

"เอกชัย" สรุปปิดท้ายถึงการทำงานของอรุณ พลัส ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การสรรหาชิ้นส่วนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยพยายามดึงผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย ส่วนของกลางน้ำ ทาง ฮอริษอน พลัส ซึ่งทำหน้าที่ผลิตรถยนต์ ก็พยายามดึงลูกค้าเข้ามาร่วมผลิตให้มากขึ้น และปลายน้ำ ก็มีเครือข่ายสถานีชาร์จ อย่าง on-ion และช่องทางการตลาด อย่างแพลทฟอร์ม EVme รองรับ 

 

และล่าสุด อรุณพลัส ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของ ฮอริษอน พลัส ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ชลบุรี ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. และบริษัทพันธมิตร ที่พร้อมรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะมีกำลังการผลิตเริ่มต้น 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปี ในปี 2573 พร้อมส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ในปี 2567 

 

ตลอดกระบวนการทำงานของ อรุณ พลัส ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถเปิดกว้างให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาช่วยต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้มีความสมบรณ์แบบมากที่สุด และนั่นคือเส้นทางของการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้สามารถแข่งขันและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลกต่อไป