ตลาดกัญชงไทยจะไปทิศทางไหน โอกาสและความท้าทายมีอะไรบ้าง

21 ก.ค. 2564 | 08:38 น.

วิจัยกรุงศรี เผยบทวิเคราะห์ กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย ฟันธงใน 5 ปีข้างหน้าคาดมูลค่าตลาดกัญชงไทยอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง "กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย" โดยได้  ประมาณการมูลค่าอุตสาหกรรมกัญชงของไทย พิจารณาจากมูลค่าของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีศักยภาพในการนำกัญชงไปใช้ เพื่อเป็นฐานในการประเมิน ร่วมกับสัดส่วนกัญชงที่คาดว่าจะถูกนำไปใช้ในแต่ละอุตสาหกรรม  โดยประเมินผลได้ดังนี้

 

  • ปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ทั้งนี้ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท 
  •  
  • ทั้งนี้ ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี (ตารางประกอบ3)

ตารางประกอบ3

อุตสาหกรรมกัญชงไทยอยู่ตรงไหน
ไทยมีศักยภาพในการเพาะปลูกพิจารณาจาก

  • ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้สามารถปลูกในพื้นที่เปิดได้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-33 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมต่อการปลูกกัญชง นอกจากนี้ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นเฉลี่ย 3-4 เดือน ทำให้สามารถปลูกได้ 2-3 รอบต่อปี ในขณะที่ประเทศในยุโรปต้องปลูกในพื้นที่ปิดเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งมีต้นทุนการเพาะปลูกสูง (ตารางประกอบ 4)                                                                                                                                                             
  • ไทยมีองค์ความรู้และฐานข้อมูลดี สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชงมากว่า 10 ปีจนสามารถพัฒนาพันธุ์กัญชงผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นรายแรก อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านเมล็ดพันธุ์ ทำให้มีประชาชน วิสาหกิจชุมชน นิติบุคคลมาติดต่อขอซื้อสายพันธุ์เป็นจำนวนมากกว่า 600 รายการในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา                                                                                                                                                                                                            
  • การเพาะปลูกกัญชงในไทยทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นกับความต้องการผลผลิตและต้นทุนการเพาะปลูก กล่าวคือ แบบกลางแจ้งเหมาะสมกับการปลูกเพื่อเอาเส้นใย ก้าน เมล็ด เพราะมีต้นทุนการเพาะปลูกต่ำสอดคล้องกับราคาสินค้าที่ไม่สูงมาก ขณะที่ระบบปิดเหมาะกับการเพาะปลูกเพื่อเอาสารสกัดจากช่อดอก เนื่องจากต้องอาศัยการควบคุมคุณภาพระดับสูง (ตารางประกอบ 4)
    ตารางประกอบ4

เกษตรกรและโรงงานแปรรูปเริ่มทยอยประกอบธุรกิจ กัญชงมีกฎหมายควบคุมธุรกิจที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเอกสารการขออนุญาตที่ค่อนข้างจำเพาะและรัดกุม อาทิ หนังสือตรวจสอบประวัติอาชญากรรม กรรมสิทธิ์ที่ดิน แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูก แบบแปลนอาคารหรือโรงเรือน แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์ มาตรการรักษาความปลอดภัย และวิธีการทำลายส่วนของกัญชงที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ 


ด้วยเหตุนี้ การขออนุญาตนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะต้องทำควบคู่กันทั้งจากผู้ปลูกและผู้แปรรูป โดยเกษตรกรจะต้องมีความพร้อมตั้งแต่การระบุสายพันธุ์กัญชงรวมถึงแผนจำหน่ายให้ผู้ประกอบการรายใด ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมด้านการลงทุนเนื่องจากจะต้องระบุแผนการใช้ประโยชน์และวิธีการทำลายส่วนที่เหลือ สรุปได้ดังนี้

 

  • เกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งพื้นที่เพาะปลูก แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์ การรักษาความปลอดภัย และต้องมีผู้ประกอบการแปรรูปที่รับซื้อผลผลิตที่ชัดเจน หรือมีการทำ Contract Farming ไว้แล้ว โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรมาลงทะเบียนขออนุญาตปลูกกัญชงเป็นจำนวนมาก ทำให้คาดว่าผลผลิตกัญชงจะทยอยเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไป                                                                                                                                                                                      
  • โรงงานแปรรูป ต้องมีความพร้อมในการสกัดเป็นน้ำมัน/ผง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบเนื่องจากเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ขึ้นทะเบียนในไทยทั้ง 4 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ให้เส้นใยเท่านั้น อีกทั้งไม่สามารถนำเข้าเมล็ดเพื่อนำมาสกัดในเชิงพาณิชย์ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรอผลผลิตกัญชงสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2564


อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางยังเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ การนำกัญชงไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายลูกในการรับรองเพื่อประกอบธุรกิจ โดยในปัจจุบัน มีเพียงอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีราชกิจจานุเบกษารองรับ

อย่างไรก็ตาม การนำกัญชงมาใช้ในอุตสาหรรมดังกล่าวยังมีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น อาหารและเครื่องดื่มให้ใช้ส่วนผสมจากกัญชงได้เพียงเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง และโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ส่วนเครื่องสำอางให้ใช้ส่วนผสมที่ได้จากน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง โดยวัตถุดิบกัญชงจะต้องมาจากผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขั้นปลายยังคงต้องรอวัตถุดิบจากผู้ประกอบการโรงสกัด ซึ่งการผลิตออกมาเป็นเกรดมาตรฐาน (ตามมาตรฐานอาหารและยา) จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตพันธุ์น้ำมัน/สารสกัด โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายเชิงอุตสาหกรรม/พาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจกัญชงเป็นจำนวนมาก (ตารางที่ 2)

ตารางประกอบ2

ความท้าทายในการประกอบธุรกิจกัญชงในไทย

  • เกษตรกร จะต้องคำนึงถึงตลาดรองรับ ชนิดของสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคาขาย ความสามารถในการแข่งขัน สภาพอากาศ เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพตามความต้องการของตลาด เช่น การปลูกเพื่อเอาเส้นใยหรือเมล็ดมีอุปสรรคไม่มากนักเนื่องจากได้ผลผลิตที่ค่อนข้างแน่นอนในเชิงปริมาณ แต่การเพาะปลูกเพื่อเอาสารสกัด CBD มีความแปรปรวนสูงกว่าเนื่องจากสารสกัดที่อยู่ในเมล็ดพันธุ์จะมีความผันผวนสูงต่อสภาพแวดล้อมที่กัญชงเติบโต                

                                   

  • ผู้ประกอบการขั้นกลางและขั้นปลาย ต้องคำนึงหลายประเด็น ได้แก่

-เงื่อนไข/มาตรฐานการผลิตที่เข้มงวด เช่น ปริมาณสาร THC ที่ไม่เกิน 0.001% ในอาหารหรือเครื่องดื่ม การติดฉลากสินค้า การโฆษณา และการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ


-ลิขสิทธิ์/สิทธิบัตรกัญชง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสูง


-ความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งบริษัทกัญชงหลายแห่งในต่างประเทศแม้จะมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงแต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงโดยเฉพาะต้นทุนจาก โรงงานเครื่องจักรสกัด ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมต่อกระบวนการผลิต


-ความสามารถในการแข่งขัน ผู้ผลิตเข้ามาในตลาดมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งจากต่างประเทศ


-การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย หรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชง


-ข้อจำกัดของตลาดส่งออก แม้ว่าสหประชาชาติเริ่มผ่อนคลายในการนำสาร CBD มาใช้ แต่การใช้งานยังต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ทำให้หลายประเทศยังคงจัดให้กัญชงเป็นสารเสพติด ซึ่งเป็นข้อจำกัดในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย      

                                                                                                

  • ตลาดสำหรับการซื้อขายยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและจัดตั้ง ถึงแม้ว่าการซื้อขายกัญชงจะเป็นการซื้อขายโดยตรง (ระบบ Contract_Farming) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ปลูก แต่ราคาจะถูกกำหนดโดยตลาดกลางกัญชงซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้จัดตั้ง โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย การกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดราคากลางโดยใช้ระบบ Network เชื่อมโยงทุกตลาดเป็นระบบตลาดเดียว (Single Central Market) และกำหนดขั้นตอนการซื้อขายที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลักในการจัดหาตลาด  หรือเครือข่ายตลาดเพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรรายย่อยสามารถจำหน่ายไปยังภาคอุตสาหกรรม โรงงานสกัด และผู้แปรรูปได้                                                                          

ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ได้แก่ 
(1) กัญชงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาสกัด แต่สามารถส่งออกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศได้ 


(2) การขออนุญาตปลูกจะต้องมีผู้รับซื้อที่ชัดเจน ไม่อนุญาตให้ปลูกโดยที่ยังไม่มีแหล่งรับซื้อ ไม่มีแผนการผลิต หรือแผนการใช้ประโยชน์ 


(3) คุณภาพและมาตรฐานต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะสาร THC ที่ต้องไม่เกิน 0.2% ของน้ำหนักแห้ง หรือขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์ที่นำกัญชงไปผสม 


(4) กฎหมายรองรับในการนำกัญชงมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศกฎหมายอนุญาตให้ใช้เมล็ด น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางได้  ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่ระหว่างการอนุมัติหรือพิจารณาออกประกาศเพิ่มเติม    

                                                
การต่อต้านของกระแสสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันการรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และคุณประโยชน์จากกัญชงยังไม่เป็นที่ทั่วถึงมากนัก เนื่องจากกฎหมายไทยจัดพืชกัญชงให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดมาเป็นเวลานาน

 

ที่มา:วิจัยกรุงศรี