เดินหน้า “แก้มลิงแก่งน้ำต้อน” สานต่อพระราชดำริ แก้น้ำท่วม-แล้ง ขอนแก่น 

30 มี.ค. 2566 | 03:00 น.

กรมชลประทาน เดินหน้า “แก้มลิงแก่งน้ำต้อน” สานต่อพระราชดำริ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และมีน้ำสนับสนุนการเพาะปลูก ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น

“ลำน้ำชี” เป็นแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 1,047กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,480 ตร.กม. เป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบด้านตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์นับตั้งแต่เขาสันปันน้ำ เขาแปปันน้ำ เขาเสลียงตาถาด เขาอุ้มน้ำ เขายอดชี เขาครอก จนถึงเขาเทวดา ซึ่งเป็นแนวภูเขาชายเขตแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิ โดยมีสาขาหลัก 5 ลำน้ำซึ่งประกอบไปด้วย ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำปาวและลำน้ำยังไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ รอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบลราชธานี 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 ในหลวงรัชกาลที่9 พระราชดำริ กับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดังว่า “ในฤดูน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลดน้ำท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเช่นเคย จึงควรที่จะมีการสำรวจและหาวิธีการเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตลอดไปเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก” 

กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงดำเนินการตามแนวพระราชดำริมีพื้นที่หนอง 6,196 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ 1. พื้นที่ขุดลอกประมาณ 4,000 ไร่ ปริมาณดินขุด 15,415,120 ลบ.ม. 2. พื้นที่ทิ้งดินและคันดินถมบดอัดแน่น ประมาณ 1,786 ไร่ ปริมาณดินถมบดอัดแน่น 95% จำนวน 3,144,930 ลบ.ม. และ 3. กันพื้นที่ข้อพิพาทออก ประมาณ 410 ไร่ แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเนื่องจากไม่มีอาคารบังคับน้ำ ส่งผลให้ประชาชน 33,877 คน พื้นที่เกษตรโดยรอบกว่า 35,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตร

ต่อมาในปี 2561-2562 กรมชลประทานได้รับงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นการสำรวจขอบเขตโครงการ รวมถึงการออกแบบโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนพร้อมอาคาร  แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2569) เป็นการขุดลอกแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำจากเดิม 7.43 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม. พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต

ส่วนในระยะที่ 2 แผนงานก่อสร้างปี พ.ศ.2568-2570 เป็นงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 35,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลเมืองเก่า ตำบลดอนช้าง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง, ตำบลขามป้อม ตำบลพระยืน ตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน และตำบลบ้านเหล่า อำเภอฝาง 

ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญของลำน้ำชี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และมีน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่การเกษตรได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่นได้มากขึ้น ในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น