Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

19 ต.ค. 2566 | 07:55 น.

Probiotic จากงานวิจัยนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ-การแพทย์เชิงพาณิชย์ครั้งแรกในไทย

โลกของนวัตกรรมพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะการวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ-การแพทย์เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับเทรนด์การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และปัจจัยจากสถานการณ์โรคระบาดที่อุบัติใหม่ ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องผสานความร่วมมือกันให้เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุด นับเป็นความสำเร็จในอุตสาหกรรมสุขภาพและทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ที่เปิดตัวงานวิจัยนวัตกรรม Probiotic สู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์เชิงพาณิชย์’ โดยนำ Probiotic ไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ เพื่อเสริมประโยชน์ด้านสุขภาพ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “เราต้องการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ Probiotic ทางการแพทย์ โดยการหาสายพันธุ์ใหม่ สร้างเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ แต่ก่อนที่จะสามารถนำสายพันธุ์ใหม่มาใช้ได้ ต้องศึกษาก่อนว่ามีความปลอดภัย และมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคที่เราต้องการหรือไม่ รวมถึงศึกษาทางคลินิกทั้งในสัตว์ทดลอง และในอาสาสมัคร ก่อนจะผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน”

ขณะนี้ เราสร้างนวัตกรรมการพัฒนา Probiotic ทางการแพทย์อย่างครบวงจร โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย แพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งต้องใช้ทีมงานขนาดใหญ่ เพื่อให้นวัตกรรมนั้นอยู่ได้แบบยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเอง และแข่งขันกับนานาชาติได้

“จากการเข้ามาศึกษา ทำให้ทราบว่า คนไทยพึ่งพาหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งผู้บริโภคในไทยใช้ผลิตภัณฑ์ Probiotic รวมเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 7 พันล้านบาท/ปี ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้เชื้อจุลินทรีย์นำเข้าทั้งหมด ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อเมริกา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากนักวิจัยไทยที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้มีไม่น้อย แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะพัฒนาไปไม่ถึงในเชิงพาณิชย์ แต่วันนี้เราเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกในไทยที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ Probiotic ออกสู่เชิงพาณิชย์เพื่อใช้กับคนได้ ซึ่งเราใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 10 ปี”

งานวิจัยดังกล่าว นำมาสู่การลงนาม MOU ร่วมกันของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต Probiotic สำหรับใช้ในสัตว์ ซึ่งวันนี้ขยายการผลิตมาสู่ Probiotic สำหรับคนสำเร็จ เป็นความหวังของประเทศไทยที่จะเพิ่มความสามารถแข่งขันในเรื่องผลิตภัณฑ์ Probiotic ทางการแพทย์สำหรับมนุษย์”

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

Probiotic สัญชาติไทย กับคุณสมบัติ 5 ต้าน 1 เสริม หลายคนมักจะคิดว่าการกิน Probiotic ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบภายในช่องท้องดีขึ้น แต่วันนี้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Probiotic สายพันธุ์ดี ๆ ให้ประโยชน์มากกว่านั้น “ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ รวมถึงการป้องกันโรคกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเกิดคอนเซ็ปต์ใหม่ว่า ‘เรารับประทานอาหารให้เป็นยา’ ที่จะทำให้สุขภาพดี มีชีวิตยืนยาวได้ แนวคิดนี้เป็นที่มาของ Probiotic ที่เราทำการศึกษาวิจัย”

คุณสมบัติ 5 ต้าน 1 เสริมของ Probiotic สัญชาติไทยจากงานวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. ต้านเชื้อก่อโรค ทั้งในช่องปาก ช่องท้อง และที่ผิวหนัง
  2. ต้านการอักเสบ
  3. ต้านการเกาะของเชื้อก่อโรคต่อเซลล์ของร่างกาย
  4. ต้านอนุมูลอิสระ
  5. ต้านเซลล์มะเร็ง

และ เสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีการตรวจสอบจากตัวอย่างเลือด และน้ำลายของอาสาสมัครแล้ว พบว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจริง

จุดเด่นของ Probiotic สายพันธุ์ใหม่ ป้องกัน-ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียก่อมะเร็ง “งานแรกของเรา คือใช้ Probiotic ในการป้องกันฟันผุ เกิดจากปัญหา ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่มีฟันผุสูงมาก โดยเฉพาะในเด็กมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยกำหนด ส่งผลถึงผู้สูงอายุที่ควรจะมีฟัน 20 ซี่ที่ใช้งานได้ ไม่นับรวมฟันที่ไม่สบกัน ยกตัวอย่างที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 60-74 ปี ควรจะมี 58% ที่มีฟัน 20 ซี่ แต่คนไทยมีไม่ถึง 20% เพราะฉะนั้น ช่องปากเป็นเหมือนด่านหน้า ถ้าสภาพช่องปากไม่ดี จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เพราะในช่องปากมีเชื้อหลายตัว บางตัวก่อให้เกิดมะเร็งได้”

สำหรับสินค้าต้นแบบตัวใหม่ที่เราอยากนำเสนอ คือการนำ Probiotic มาใช้ในเรื่องของมะเร็งลำไส้ หนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง คนไทยมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เคสใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% เราใช้ Probiotic สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งผ่านการทดสอบว่ามีฤทธิ์ป้องกัน และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะผลิตภัณฑ์ Probiotic ที่รับประทาน ได้แก่ 1) Probiotic ที่มีชีวิต 2) Probiotic ที่ไม่มีชีวิต) 3) ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี Probiotic โดยให้รับประทานวันละ 3 เม็ด ติดต่อกัน 6 เดือน มีการส่องกล้องเก็บตัวอย่างจากลำไส้ พร้อมเจาะเลือดมาตรวจสอบ ทั้งก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์ และหลังทานครบ 6 เดือน

ตามปกติ ในก้อนมะเร็งที่ถูกตัดออกมา หรือในอุจจาระของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ จะมีเชื้อ Fusobacterium Nucleatum (เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ปกติจะอาศัยอยู่ในช่องปาก) อยู่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นมะเร็งลำไส้ นับเป็นเชื้อที่ใช้บ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคมะเร็งลำไส้เลยก็ว่าได้ ผลการทดลองพบว่า ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ Probiotic มีปริมาณเชื้อ Fusobacterium Nucleatum ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับ Probiotic กลับมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่แม้จะได้รับการรักษาแล้ว อาจกลับมาเป็นซ้ำอีก

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ Probiotic กับเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) ในช่องปาก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบด้วย โดยจากสถิติ 50% ของประชากรโลกมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ในจำนวน 50% นี้ จะมีผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบประมาณ 10% และ 3% จะลุกลามกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

การกำจัดเชื้อในช่องปาก ทำให้ผลการรักษาที่กระเพาะอาหารมีเปอร์เซ็นต์สำเร็จสูงขึ้น เราใช้ Probiotic มาผสมในสูตรน้ำยาบ้วนปากที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ เป็นต้นแบบที่เอามาให้ดูเป็นตัวอย่าง และสามารถทำเป็นยาสีฟันได้ด้วย ซึ่งจะมีฤทธิ์ทั้งฆ่าเชื้อฟันผุ และเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

นายสัตว์แพทย์ ไพรัช ธิติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด บริษัทของเรา มีประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 23 ปีในกระบวนการคัดเลือกเชื้อ เก็บเชื้อในธนาคารเชื้อ นำเชื้อออกมาใช้ มาหมักขยาย ซึ่งเรามีองค์ความรู้ในการหมักขยายที่จะทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจมา เราใช้เงินลงทุนในการวิจัยไม่น้อยกว่า 5% ของยอดขาย สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานสากล

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

“จุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ใช้ในคน เรามี 29 สายพันธุ์ หากรวมในฝั่งของปศุสัตว์ด้วย จะมีประมาณ 90 สายพันธุ์ ซึ่งไม่มีปนเปื้อนยีนส์ดื้อยา 100%”

Probiotic ของ ศาสตราจารย์ ดร.รวี มีประโยชน์กับช่องปากของมนุษย์ได้ ก็ควรจะมีประโยชน์กับช่องปากของสัตว์เลี้ยงได้ เพราะปัญหาช่องปากของคนกับของสัตว์เลี้ยงใกล้เคียงกันมาก มีเชื้อก่อโรคอยู่ในประเภทเดียวกัน เราจึงลองดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์ Probiotic ของคน มาปรับเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับหมาแมว ปรากฏว่านำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จมาก จึงเป็นที่มาที่เราขอ License เชื้อ Probiotic เมื่อปี 2561 ต่อมาท่านชวนเราทำผลิตภัณฑ์สำหรับคน ซึ่งเราสนใจ ปัจจุบันแยกโรงงานออกเป็นฝั่งที่ผลิตของคน และฝั่งที่ผลิตของปศุสัตว์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Probiome นับจากนี้ไป Probiotic ที่มาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จะขึ้นต้นด้วยชื่อว่า Probiome แล้วตามด้วยชื่อเชื้อต่าง ๆ”

สินค้า Probiotic ในตลาดของไทยพบว่ามีประมาณ 30 ชนิดสินค้า ซึ่งน่าจะ 100% ที่วัตถุดิบเชื้อ Probiotic ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ จากนี้ บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด จะเป็นผู้ซัพพลายวัตถุดิบจุลินทรีย์ Probiotic ทั้งสายพันธุ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และของบริษัท ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

“ตอนนี้เราถือเป็นแหล่งผลิตเอกชนรายเดียวในประเทศไทย ที่มีระบบมาตรฐานสากล สายพันธุ์ของเราทั้งหมด 100% มาจากภูมิปัญญาคนไทย สิ่งแวดล้อมของเมืองไทย จากอาหารที่เราบริโภคกันเป็นประจำ และจากคนที่สุขภาพแข็งแรง เรามั่นใจว่า จุลินทรีย์ Probiotic เหล่านี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ในราคาที่ยุติธรรม มั่นใจได้ว่ามีมาตรฐานไม่แพ้ต่างประเทศ ที่สำคัญคือ เราสามารถลดการนำเข้าผง Probiotic จากต่างประเทศ ทุก ๆ 1 บาทที่เราแทนที่ได้ นั่นหมายความว่าประเทศของเราจะลดการเสียดุลจากการนำเข้าไปอีก 1 บาท มั่นใจว่านวัตกรรมนี้จะเติบโตขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ”

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

แนวโน้มการเติบโตตลาด Probiotic ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาด Probiotic นั้น มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะพุ่งแตะระดับที่ 3.2 หมื่นล้านบาทภายในปี 2026 โดยจะมีอัตราความเจริญเติบโตต่อปีสูงถึง 8.3 % ขณะที่ตลาด Probiotic ประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาทต่อปี ส่วนมูลค่าการใช้ Probiotic ในการเลี้ยงสัตว์สูงกว่า 6.4 พันล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ตลาด Probiotic บ้านเราจะมีมูลค่าสูงถึง 9.1 พันล้านบาท ซึ่งจะมีอัตราความเจริญเติบโตต่อปีสูงถึง 12.21 % เลยทีเดียว

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ Probiotic ถือเป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก การนำ Probiotic ไปเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในระหว่างปี 2560 - 2563 มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ Probiotic ในอาเซียน ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 300%

ทางเลือกของผู้ประกอบการ SME ในการนำ Probiotic ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ศาสตราจารย์ ดร.รวี ระบุว่า ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ 2 แบบ

หนึ่งคือ Probiotic เมื่อไหร่ที่เราเรียกว่า Probiotic นั่นคือจุลินทรีย์ต้องมีชีวิต หมายความว่าต้องมีการตรวจนับกัน ถ้าไม่ได้ 1 ล้านตัวใน 1 กรัมหรือ 1 ml. ของผลิตภัณฑ์ จะไม่สามารถผ่านมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วโลก

สองคือ Postbiotic เป็นสารที่ได้จากจุลินทรีย์ Probiotic เป็นกรดอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Butyrate Butyric Acid หรือ Propionic Acid ฯลฯ นอกจากสารพวกนี้แล้ว ยังมีโปรตีนที่ช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรค มีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้ง Probiotic ที่ไม่มีชีวิตด้วย

ทั้งนี้ การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจุลินทรีย์ Probiotic ที่มีชีวิตชอบที่แห้ง และเย็น ไม่ชอบน้ำและความชื้น หากผลิตภัณฑ์มีน้ำเป็นส่วนประกอบและต้องการให้เก็บรักษาได้นาน ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ Postbiotic เป็นส่วนประกอบแทน

งานวิจัยในครั้งนี้ ได้รับทุนทั้งจากภาครัฐ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Tech Funds ที่คอยสนับสนุนการศึกษาเชิงนวัตกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เวชสำอาง เครื่องสำอาง น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ฯลฯ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ทั้งในรูปแบบของเม็ด ผง แคปซูล ฯลฯ ที่สามารถดัดแปลงได้ตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย ทำให้ SME ไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Probiotic ออกสู่สังคมได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

นอกจากที่กล่าวมา ยังมีการนำ Probiotic จากงานวิจัยในครั้งนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทเวชสำอาง ซึ่งเป็น Serum มาแล้ว มีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดฝีหนองและสิว อีกทั้งยังช่วยต้านการอักเสบได้อีกด้วย

ความสำเร็จครั้งนี้ เปิดตัวอย่างเป็นทางการผ่าน ‘งานแถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนา Probiotic จากงานวิจัยนวัตกรรม ไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพ และทางการแพทย์เชิงพาณิชย์’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม The Westin Grande Sukhumvit Bangkok ท่ามกลางบรรดาสื่อมวลชน และผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ ที่ให้ความสนใจกับการนำ Probiotic ไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ เพื่อเสริมประโยชน์ด้านสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์

ภายในงานยังมีผู้ประกอบการ SME นำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีส่วนประกอบของ Probiotic ซึ่งได้จากงานวิจัยครั้งนี้ มาร่วมแสดงแก่สื่อมวลชนด้วย อาทิ ‘For Fun’ นมอัดเม็ดผสม Probiotic จากแบรนด์ Dairy Home, ลูกอมกลิ่นองุ่น และสตรอเบอร์รี่โยเกิร์ตผสม Probiotic แบรนด์ ‘Probiodent’, นมแพะเสริม Probiotic สำหรับสุนัขและแมวจากแบรนด์ ‘Happy Pet’ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสุนัขและแมวจากแบรนด์ ‘Florgut’ และ ‘Plaque-Guard’ ด้วย

 

Probiotic นวัตกรรมระหว่างภาครัฐ-เอกชน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด โดยตรง หรือผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์คำรณ พิทักษ์ กล่าวว่า “บทบาทหน้าที่ของเรา คือ การส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเอาองค์ความรู้นี้ออกไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ รับฟังโจทย์จากภาคเอกชน หรือผู้ที่มีความสนใจนวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานให้มีการหารือในเชิงลึกกับทีมนักวิจัย หรือส่งต่อให้บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ได้เจรจากับผู้ที่สนใจต่อไป

ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ www.Bangkokbanksme.com

รู้จัก บริษัทเค.เอ็ม.พี.ไบโอเทค จำกัด ได้ที่ www.kmpbiotech.com