สมาคมแบงก์ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย "กลุ่มเปราะบาง"ทั้งธุรกิจ-ครัวเรือน

12 ส.ค. 2565 | 00:15 น.

สมาคมธนาคารไทย-ธนาคารสมาชิก ชะลอขึ้นดอกเบี้ยประคองต้นทุนธุรกิจ-สถานะครัวเรือนชูมาตรการทั่วไปอย่างเร่งด่วน-เฉพาะจุดช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง-ยันต้องปรับโครงสร้างหนี้อีกระลอกรอการฟื้นตัว/ป้องกันหน้าผาเอ็นพีแอล

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75%โดยให้มีผลทันทีเมื่อวันที่ 10สิงหาคม 2565

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า  สมาคมและธนาคารสมาชิกจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรอดูผลกระทบจากตลาดเงินหากไม่กระทบก็ยังประคองไปได้ 

สมาคมแบงก์ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย "กลุ่มเปราะบาง"ทั้งธุรกิจ-ครัวเรือน

แต่หากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์มีการไหลออกไปสู่ตลาดตราสารหนี้และสะท้อนผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นนั้นซึ่งขึ้นอยู่กับพอร์ตของแต่ละธนาคาร  

 

 

ทั้งนี้  ยอมรับว่าการทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์  เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารได้มาจากเงินฝากและเงินกู้โดยออกตราสาร ซึ่งการนำไปปล่อยกู้ต้องดูความสมดุลระหว่างต้นทุนและการปล่อยกู้

 

นอกจากมาตรการดอกเบี้ยยังมีมาตรการที่จะช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องทั้งมาตรการทั่วไปอย่างเร่งด่วนและมาตรการเป็นการเฉพาะ ซึ่งต้องใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนคู่ขนานทั้งมาตรการยืดหนี้ 

 

ผ่อนชำระต่องวดและลดดอกเบี้ยตามความจำเป็นโดยรายละเอียดมีความยืดหยุ่นและครบภายใต้มาตรการของธปท.มีให้ปรับโครงสร้างหนี้ที่จะสิ้นสุดในปี 2566และต้องปรับโครงสร้างหนี้อีกระลอกเพื่อช่วยลูกหนี้ให้ก้าวผ่านและรอการฟื้นตัวขึ้นมา

 

“เราจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่มเปราะบาง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในกลุ่มเปราะบางจะเพิ่มภาระต้นทุนในการทำธุรกิจและดูแลสถานะของครัวเรือน ส่วนจะใช้เวลาชะลอแค่ไหนต้องรอดูผลกระทบตลาดเงิน หากดูผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเห็นว่า ลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างยืดหยุ่น และมีต้นทุนที่สามารถสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับดอกเบี้ย แต่ต้องขอดูเรื่องผลกระทบในตลาดเงิน”

 

สำหรับลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือสิ้นเดือนพ.ค.2565 มีจำนวน 1.6ล้านบัญชี  รวมยอดหนี้เกือบ 2ล้านล้านบาท ซึ่งปรับลดลงภายหลังจากสถานการดีขึ้น โดยเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนเชื่อว่าระบบจะประคองเอ็นพีแอลและSoft Landing NPL  Cliff และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

“เราหยุดระบบไม่ได้แต่เราชะลอได้ด้วยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยเฉพาะทุกธนาคารให้ความสำคัญเน้นย้ำกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแต่ละธนาคารจะทราบว่ามีรายไหนบ้างและยังเปิดรับปรับหนี้โดยธนาคารจะมีโปรดักต์โปรแกรมตอบโจทย์แต่ละกลุ่ม ไม่เหมาเข่ง เพื่อจะจัดสรรทรัพยากรได้ตรงจุด โดยรักษาความเหมาะสมทั้งเงินฝากและเงินกู้  และจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนสะดุด

 

นายผยงกล่าวว่า ส่วนผลกระทบสถาบันการเงินนั้น  การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ชะลอได้ แต่เมื่อกระทบโครงสร้างเงินฝากก็จะนำไปสู่เสถียรภาพซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้ย 

 

ขณะเดียวกันต้องดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยพยายามประคับประคอง  ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ผลกระทบจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่ละธนาคารได้ศึกษาและทราบPositionของตัวเองซึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับตัวที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม  หวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เร่งเพิ่มภาระ ซึ่งสมาคมและธนาคารสมาชิกร่วมมือกับธปท.ชะลอขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกลับมามีรายได้ในไม่ช้า

 

ต่อข้อถามถึงระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมนั้น นายผยงกล่าวว่า ต้องรอสัญญาณจากธปท.ในการปรับดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่เหลือ  ถ้ามองระยะสั้นวันนี้ ตลาดเงินรับรู้และคาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%  และ 0.25%ถึงสิ้นปีนี้ 

 

แต่จากกนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเห็นดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2-5ปีปรับลดลง 0.2-0.5% ซึ่งสะท้อนว่า สิ่งที่กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกับสิ่งที่ตลาดคาดหวังค่อนข้างสอดคล้องกัน

 

โดยเฉพาะกนง.ระบุถึงดัชนีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หรือผู้ประกอบการที่ฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วโดยยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว จึงอยากให้ระบบธนาคารดูแลเป็นพิเศษ