ธนชาตประกันภัยแกร่ง เงินกองทุนทะลุ 1,386%

03 ธ.ค. 2564 | 07:10 น.

ธนชาตประกันภัยแกร่ง เงินกองทุนทะลุ 1,386%

ธนชาตประกันภัยเคลื่อน 5 กลยุทธ์ หนุนเบี้ยรับปีหน้าแตะ 1 หมื่นล้านบาท ขยายฐานลูกค้าใหม่ 3 แสนรายเจาะกลุ่มระดับกลาง วัยเริ่มทำงานและวัยเกษียณ หลังฝ่าวิกฤตโควิด โชว์แกร่ง ROE 15% เงินกองทุนสูงกว่า 1,386% ชี้โควิด สายพันธุ์ โอไมครอนยังน่าห่วง   

ท่ามกลางความผันผวนตลาดเงินตลาดทุน จากการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม  แต่สปอร์ตไลท์โฟกัส “ธนชาตประกันภัย” เมื่อ ทริสเรสติ้งจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ “AA-”แนวโน้ม “Stable”  

นอกจากความแข็งแกร่งทางการเงินและสภาพคล่องสูงแล้ว ผลดำเนินงานด้านการรับประกันภัยของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดีมีอัตราส่วนรวมอยู่ในระดับต่ำ(Combined Ratio)ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและอัตราเคลมสินไหมอยู่ในระดับ 52%ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ให้บริการประกันภัยรถยนต์และROE15%

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยปีนี้ แนวโน้มการเติบโตของเบี้ยรับรวม 3% มูลค่า 2.5 แสนล้านบาท  ซึ่งหลักๆ มาจากประกันสุขภาพ และประกันโควิด  และมองว่า แนวโน้มปีเบี้ยปีกน้า ยังคงเติบโตอัตราเดียวกันไม่เกิน 3%  เพราะประกันภัยโควิดจะหยุดขาย  โดยบริษัทจะหันไปทำตลาดเบี้ยประกันรถยนต์ หรือประกันสุขภาพ อื่นๆเข้ามาชดเชย  ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจวินาศภัยสิ้นไตรมาส3 ปีนี้ติดลบ 1 หมื่นล้านบาท  ส่วนหนึ่งมาจากการเคลมสินไหมประกันภัยโควิด  ดังนั้น ในระยะข้างหน้า จึงต้องติดตามสถานการณ์พัฒนาการของโรวิด สายพันธุ์โอไมครอนที่ยังน่าเป็นห่วง 

ในส่วนของธนชาตประกันภัยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก  เพราะพื้นฐานของธนชาตประกันภัยได้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างรอบคอบภายใต้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง  กรรมการผลิตภัณฑ์และที่ปรึกษาทางการแพทย์ที่ประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ บริษัทจึงเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ แต่บริษัทเน้นเข้าไปดูแลผู้ป่วยและบริจาควัคซีนซึ่งอยู่ภายใต้กำลังของบริษัทที่จัดกิจกรรมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม(ซีเอสอาร์)  

ปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงเป็นผู้นำด้านประกันภัยรถยนต์มีสัดส่วน 85% ที่เหลือเป็นประกันภัยอื่นๆ ขณะเดียวกันบริษัทสามารถบริหารจัดการค่าสินไหม(Loss Ratio)อยู่ที่ระดับ 52%โดยไม่สูงขึ้นจนน่ากังวล ซึ่งเป็นผลจากความสามารถทีมงานในการบริหารจัดการค่าสินไหม ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดี

“ล่าสุด ทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตของบริษัทธนชาตประกันภัยอยู่ในระดับ AA-(stable)  ซึ่งฐานะทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคง แข็งแกร่ง ปัจจัยหลักๆ คือ เป็นบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในTOP10 ที่มีความสามารถในการรักษาระดับการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ  ไม่หวือหวา  เรามีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านประกันภัยรถยนต์  และควบคุมLoss Ratio ได้ดีมากอย่างที่บอกอยู่ในระดับ 52%”นายพีระพัฒน์กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีเงินกองทุนใหญ่มาก เห็นได้จากทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 4,930 ล้านบาท อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนหรือ CAR Ratio (Capital Adequacy Ratio) ณ สิ้นเดือน พ.ย. ปีนี้อยู่ที่ 1,386% เป็นระดับสูงสุดในอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) บวกกับมีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง  เหล่านี้สะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงินของธนชาตประกันภัยสูงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย

นายพีระพัฒน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่พิสูจน์พัฒนาการของธนชาตประกันภัยยังเห็นได้จาก รางวัลหลากหลายที่ได้รับตลอด 2ปีที่ผ่านมา จากอดีตธนชาตได้รับรางวัล The Best Management จากคปภ.ต่อเนื่องอยู่แล้ว  และได้รับรางวัลระดับท๊อปในการบริหารจัดการ  ส่วนรางวัลที่ได้รับเพิ่มเติมในปีนี้ เช่น ประกันภัย 2+จัดเต็ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่าให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมและราคาประหยัดสำหรับลูกค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้บริษัทได้รับรางวัล “ สุดยอดผลิตภัณฑ์แห่งปี”สองปีซ้อนจากมหาวิทยาลัยมหิดล   

ส่วนรางวัล Best Claims Management Insurance Company รับมา 2ปีซ้อนจาก International Finance ประเทศอังกฤษ โดยเป็นการวัดจากความพึงพอใจของลูกค้า กระบวนการจัดการสินไหมที่ดี นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ให้บริการลูกค้า และอีกรางวัลที่เป็นความภาคภูมิใจในปีนี้ คือ รางวัล CSR of The Year ซึ่งสะท้อนถึงความใส่ใจดูแลต่อสังคม ภายใต้โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยเป็นความร่วมมือกับภาครัฐ กระทรวงมหาดไทยเปิดให้ชุมชนส่งโครงการเข้ามาเพื่อคัดเลือกและแก้ไขปัญหาโดยทำมาแล้ว 2ปีและได้รับรางวัลในปีนี้ 

สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจในปี 2565  นายพีระพัฒน์กล่าวว่า ธนชาตประกันภัยตั้งเป้า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 22% แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่บริษัทมีความพร้อมที่จะดูแลลูกค้าและขยายฐานลูกค้า โดยมี 5 กลยุทธ์หลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมาย นอกจากเบี้ยประกับภัยรับ 10,000 ล้านบาทแล้ว จะต้องรักษาความสามารถในการทำกำไรและแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่ง 5 กลยุทธ์ได้แก่ 

1.เพิ่มช่องทางการขาย โดยจะเพิ่มช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์คือ ธนาคารทีทีบี จากปัจจุบันมีสัดส่วน 42% อีกกว่า 50% เป็นพันธมิตรภายนอก คู่ค้าที่ให้ความเชื่อมั่นให้ธนชาตดูแลลูกค้า ในส่วนของธนชาตเน้นให้คู่ค้ายึดหลัก Market Conduct คือ คู่ค้าจะต้องดูแลกระบวนการขายที่ถูกต้อง เป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและมีทีมงานวัดคะแนน ซึ่งS trategic Partner เป็นกลยุทธ์ขยายตลาดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีระบบเทเลเซลภายในองค์กรเพื่อดูแลลูกค้าถือครองกรมธรรม์

“ปีหน้าการเติบโตจะมาจากพันธมิตร  โบรกเกอร์ เบี้ยรับราว 3,500 ล้านบาท ส่วนช่องทางแบงก์ทีทีบีตั้งเป้าเติบโต 30% ซึ่งมีหลายโครงการมีความคืบหน้าจะทยอยออกมา  ทีทีบีเน้นเรื่องDigital และData Analytics ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของธนชาตประกันภัยอยู่แล้ว”นายพีระพัฒน์กล่าว

2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ประกันภัยรถยนต์ธนชาต 2+ฟิตแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองและประหยดค่าใช้จ่ายซึ่งลูกค้าสามารถผ่อนชำระค่าเบี้ย 10เดือนหรือประกันอุบัติเหตุครอบครัวภายใต้กรมธรรม์เดียว และอีกหลายผลิตภัณฑ์มาก 

3.พัฒนาบริการ ซึ่งเป็นหัวใจของธนชาตประกันภัยที่มุ่งตอบโจทย์ของลูกค้าให้ตรงจุด โดยวัดความพึงพอใจลูกค้าทุกจุดหรือ NPS Score ตั้งแต่กระบวนการขาย ต่ออายุกรมธรรม์  เคลมสินไหม และอุ่ซ่อม   

4. กลยุทธ์การลงทุน Digital Consumer’s Journey ให้ความสำคัญกับลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีทำธุกรรมผ่านออนไลน์และอิเล็กทรอนิกส์ขอบริษัท ซึ่งการลงทุนระบบดิจิทัลต่อปี 200ล้านบาท  ล่าสุดเพิ่งออกเว็บไซต์ Thanachart  Insurance .co.th  นำหุ่นยนต์มาช่วยงานเร็วขึ้น  ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นระบบ Cloud ทั้งหมดในแง่การขยายงานจึงไม่มีข้อจำกัด รวมถึงความปลอดภัยด้านไอทีเป็นมาตรฐานปลอดภัยตอนนี้แจ้งเคลมและต่ออายุผ่านไลน์ได้ด้วย 

นอกเหนือจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์(AI)ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลโดยทยอยแบ่งเป็นเฟสๆ ขณะเดียวกันบริษัทให้ความสำคัญในการตรวจจับขบวนการฉ้อโกง( Fraud) โดยร่วมทำงานกับตำรวจเพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านี้มาเอาเปรียบและมีหลายเคสดำเนินคดีฟ้องเพื่อป้องปราบ  

5.กลยุทธ์ด้านการลงทุน   โดยแต่ละปีจะมีเงินใหม่ที่ได้รับจากการบริหารจัดการ กำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 700 ล้านบาท  โดยปัจจุบันมีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทเป็นการบริหารจัดการเงินของลูกค้า ซึ่ง 80% เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล  แต่ในปีหน้าจะปรับสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนเหมาะสม เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี หุ้นสามัญ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มที่ความเสี่ยงน้อยแต่ผลตอบแทนค่อนข้างดี เช่น การลงทุนระยะ 3ปีอัตราผลตอบแทนประมาณ 3% ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนเกือบ 2% 

“การทำงานกับทีทีบี เน้นProduct On Demand บนระบบดิจิทัลแบงก์กิ้งและลูกค้าเลือกความคุ้มครองได้ตามความต้องการเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ส่วน NPS Score อยู่ที่ 72% คือ ลูกค้า 100 คนมีความพึงพอใจ 72% แต่บริษัทจะมีทีมงานติดต่อลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงบริการต่อ”

นายพีระพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้เป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับ 10,000 ล้านบาทนั้น จะทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าใหม่เพิ่ม 3 แสนราย จากตอนนี้ที่มีฐานลูกค้า1ล้านรายจำนวน 1.5 ล้านกรมธรรม์ โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง ผู้เริ่มทำงาน มนุษย์เงินเดือนและ Young Old อายุ 50-70ปี ขยายจากเดิมที่จำกัดไม่เกิน 60ปี ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวคิดนำเรื่องประกันภัยมาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่แล้ว และมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงเป็นวัยเกษียณที่มีความสุข  ส่วน แนวโน้มเบี้ยและกำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสิ้นปีคาดว่า เบี้ยประกันภัยรับจะปิดได้ประมาณ 8,100-8,200 ล้านบาท โดยกำไรมีโอกาสเติบโตแต่ต้องรอตัวเลขสิ้นปี