“อลงกรณ์”มั่นใจปชป.คัมแบ็ค ประชาชนขานรับธนาคารหมู่บ้านชุมชน 2 ล้าน

20 ก.พ. 2566 | 07:16 น.

“อลงกรณ์”มั่นใจปชป.คัมแบ็ค ประชาชนขานรับนโยบายธนาคารหมู่บ้านชุมชน 2 ล้านตอบโจทย์ใหญ่ 5 ข้อ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเงินสะพัด 4 ปี 3.6 ล้านล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความมั่นใจถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) วันนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นพรรคทางเลือกหลักของประเทศอีกครั้งหนึ่ง ด้วยผลงาน นโยบาย และความสามารถในการบริหารที่พิสูจน์แล้ว 4 ปี ยุคอุดมการณ์-ทันสมัย “ทำได้ไว ทำได้จริง”

โดยเฉพาะนโยบายธนาคารหมู่บ้าน-ธนาคารชุมชน 2 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการขานรับดีมากจากเวที “ฟัง คิด ทำ”ระดับหมู่บ้านและชุมชน เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นเมกกะโปรเจคทางเศรษฐกิจที่กระจายเม็ดเงิน 160,000 ล้านบาท ลงไปถึงฐานรากคือหมู่บ้านและชุมชน 80,000แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถตอบโจทย์ 5 ข้อของประชาชนและประเทศได้แก่

1.แก้หนี้ แก้จน สร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ

2.สร้างระบบการออมและสินเชื่อชุมชน

3.สร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านและชุมชน

4.วางโครงสร้างระบบการเงินฐานรากใหม่

5.กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

                       “อลงกรณ์”มั่นใจปชป.คัมแบ็ค ประชาชนขานรับธนาคารหมู่บ้านชุมชน 2 ล้าน

เป็นครั้งแรกของประเทศ ที่มีการวางรากฐานของระบบสถาบันการเงินระดับหมู่บ้านและชุมชน ในรูปแบบธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชน พร้อมกันทั่วประเทศ 76 จัวหวัด และ กรุงเทพมหานคร ด้วยทุนประเดิมเริ่มต้นแห่งละ 2 ล้านบาท จำนวน 8 หมื่นหมู่บ้าน และชุมชน คิดเป็นเงิน 160,000 ล้านบาท

โดยในทางเศรษฐศาสตร์เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ 5 รอบ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างน้อย 9 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 3.6 ล้านล้านบาทใน 4 ปีแรก เป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยังเป็นการวางรากฐานระบบการเงินใหม่ของประเทศ ในระดับฐานรากครอบคลุมทุกจังหวัด 

                             “อลงกรณ์”มั่นใจปชป.คัมแบ็ค ประชาชนขานรับธนาคารหมู่บ้านชุมชน 2 ล้าน

“เท่าที่พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีระดับหมู่บ้านและชุมชน ปรากฏว่าประชาชนพึงพอใจ และชื่นชอบนโยบายนี้ เพราะตรงกับความต้องการของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงลูกหลานว่างงาน การค้าซบเซา เป็นหนี้นอกระบบมากขึ้นจากผลกระทบของวิกฤติโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้การบริหารด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยชุมชนของชุมชนเพื่อชุมชน จะทำให้หมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว