ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ ฟังข้อเท็จจริงปัญหาไทย-กัมพูชา

09 มิ.ย. 2568 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 11:13 น.

ทบ. เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ 47 ประเทศ เข้ารับฟังข้อเท็จจริงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา เน้นยึดสันติใช้กลไกทวีภาคี

วันที่ 9 มิถุนายน 2568 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (ทบ.) พล.โท.กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธาน การบรรยายสรุป รอบไตรมาส (Quarterly RTA Briefing) ประจำไตรมาสที่ 3 ให้แก่คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย  30 ประเทศ และ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 17 ประเทศ โดยผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาเดินทางมาด้วย

                       ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ ฟังข้อเท็จจริงปัญหาไทย-กัมพูชา

 

ทั้งนี้มีการชั้แจงเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์เฉพาะกรณีชายแดนไทย - กัมพูชา ณ ห้องประชุมกรมข่าวทหารบก ในกองบัญชาการกองทัพบก 
โดยมีคณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกไทยประจำต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ, กอ.รมน., ศอ.บต., กรมข่าวทหาร และกรมชายแดนทหารรวมกว่า 50 นาย เข้าร่วมรับฟัง    

การจัดการบรรยายสรุปในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อเท็จจริง พัฒนาการ และความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

                         ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ ฟังข้อเท็จจริงปัญหาไทย-กัมพูชา

 

ตลอดจนการส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งยังคงมีความเปราะบาง ซับซ้อน และเกิดเหตุการณ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในประเด็นดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการบรรยายสรุปสถานการณ์เฉพาะกรณี ชายแดนไทย-กัมพูชา กรมข่าวทหารบกได้ชี้แจงแก่คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ให้รับทราบถึงลำดับเหตุการณ์ ข้อเท็จจริง 

                 ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศ ฟังข้อเท็จจริงปัญหาไทย-กัมพูชา

 

รวมถึงจุดยืนที่ชัดเจนของกองทัพบกต่อการดำเนินมาตรการต่างๆในการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้น ตามที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาอย่างสันติ และอาศัยกลไกทวิภาคีระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหา 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว นับเป็นการดำเนินการด้านการทูตฝ่ายทหารเชิงรุก (Proactive Defence Diplomacy) อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับสากล พร้อมทั้งคงไว้ซึ่งความร่วมมือด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน