ดร.สติธร ชี้ศาลรับวินิจฉัยสถานะเศรษฐา กระทบความน่าเชื่อถือแต่ไม่มาก

23 พ.ค. 2567 | 08:22 น.

นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า มองกรณีศาล รธน.รับวินิจฉัยสถานะนายกฯเศรษฐา กระทบความน่าเชื่อถือรัฐบาลบ้างแต่ไม่มาก เหตุศาลไม่สั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่ ชี้"เศรษฐา"เป็นตัวเลือกที่แต่ละฝ่ายรับได้มากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน

จากกรณีที่วันนี้ (23 พ.ค.2567 )ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 48 คน ขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ 

กรณีนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

มีความเห็นจาก ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนมุมมองต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยสถานะนายกฯว่าผลกระทบมีบ้างแต่ไม่มาก เพราะศาลท่านไม่ได้สั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานภาพนายกฯ เพราะถ้าศาลวินิจฉัยออกมาเป็นโทษกับนายกฯก็ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ อาจไม่ถึงเวลาเปลี่ยนตัวนายกฯ เพียงแต่รอบนี้มีเรื่องทางการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือมีเรื่องดีลกันไว้ก่อนหน้านี้  ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่การเลือกนายกฯเลือกโดยรัฐสภา มีสส.และ สว.เลือก  แต่สว.เพิ่งครบวาระไป ก็แปลว่าเงื่อนไข 5 ปี จบไปด้วย แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯต้องเลือกที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว

ความน่ากังวลของเรื่องการดีลกันมันจะคนละขั้วความคิดทางการเมือง จึงเป็นห่วงว่าอำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยที่มีต่ออีกกลุ่มที่ดีลกันจะมากเกินไปหรือไม่ พรรคเพื่อไทยอาจสร้างอำนาจต่อรองเพิ่ม ถ้ากลุ่มอำนาจเดิมคุยกันไม่รู้เรื่อง โดยอาจจะไปจับมือกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล รวมกันเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาอยู่แล้ว
 

ดร.สติธร กล่าวอีกว่า ก่อนตั้งนายเศรษฐา เป็นนายกฯมีการดีลฮ่องกง โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไปคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงมีดีลแทรกดีลอยู่ กลุ่มอำนาจเดิมจึงมีความรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรเพื่อไทยจะสร้างอำนาจต่อรองขึ้นมาสูง ในจังหวะที่วันนี้ สว.ไม่มีประโยชน์ต่อการเลือกนายกฯแล้ว  อาจจะเป็นการปรามกันไว้ก่อนว่าอย่าเกินดีลมากไป

นอกจากนั้นสถานการณ์รัฐบาลในปัจจุบัน คือเพื่อไทยบวกกับพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน  เป็นทางเลือกเดียว หรืออาจจะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาบวกเพิ่ม หรือในระดับการเปลี่ยนตัวนายกฯมองว่า ไม่ถึงเวลาเพราะมันลงตัวแล้วในแง่ของจำนวนเสียงพรรคร่วมรัฐบาล  ส่วนในแง่ของตัวบุคคล นายเศรษฐา เป็นตัวเลือกที่แต่ละฝ่ายรับได้มากที่สุด ณ สถานการณ์ตอนนี้ 

มองไปที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่แทรกซ้อนเข้ามารัฐบาลจะรับมือไหวหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกับตอนนี้ต้องประคับประคองกันไป ต่อให้รับไม่ไหวอย่างไรเสียก็ต้องลดผลกระทบให้น้อยที่สุด  เพราะเงื่อนไขทางการเมืองมันล็อคไว้เหมือนกัน 

ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567  ที่ใกล้จะนำมาใช้  เป็นเพียงเงินที่เพิ่มเติมมาจากช่วง 6-7 เดือนก่อนหน้านี้ ช่วยแค่ประคับประคองเศรษฐกิจมากกว่า  ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจนผิดหูผิดตา เป็นเพียงการไหลของเม็ดเงิน เฉพาะงบประมาณไม่พอ อยู่ที่วิธีการเอางบประมาณไปใช้ด้วย  

จะเห็นได้ว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567  ตั้งมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่เป็นงบที่ใช้ในเรื่องปกติ ไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้ดูหวือหวา ถ้าจะหวังต้องเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นคนทำเอง และคิดนโยบายที่มันแหวกแนวได้มากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้มากขึ้น