เปิดแผนฝ่ายค้าน“ซักฟอกรัฐบาล”นายกฯ-3 รมต.ขึ้นเขียง

31 มี.ค. 2567 | 02:30 น.

ฝ่ายค้านจัด 40 ขุนพล “ซักฟอกรัฐบาล” 3-4 เม.ย.นี้ “เศรษฐา-ทวี-ธรรมนัส-ชาดา-อุ๊งอิ๊ง” อยู่ในข่ายโดนถล่ม “ก้าวไกล” คาดหวังนำไปสู่การปรับ ครม. ประชาธิปัตย์อุบพาดพิง“ทักษิณ” : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง

ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. 2567 นี้ “รัฐบาลเศรษฐา” ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะต้องเจอกับ “ศึกหนัก” อีกครั้ง กับ การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หรือที่เรียกกันว่า “ซักฟอกรัฐบาล”

โดยมีการจัดสรรเวลา 2 วัน ให้ฝ่ายค้านอภิปราย 22 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 ชั่วโมง ประธานของที่ประชุม จำนวน 2 ชั่วโมง วันที่ 3 เม.ย.2567 เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. แล้วพักการประชุมหลังเวลา 01.00 น.  และวันที่ 4 เม.ย. 2567 เริ่มประชุมเวลา 09.00-23.00 น.

แม้การอภิปรายรัฐบาลของฝ่ายค้านครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ของรัฐบาล แต่ “นายกฯ เศรษฐา” และ รัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงถึง ก็อาจ “สะบักสะบอม” เอาได้กับเรื่องที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย

กรอบซักฟอกรัฐบาล

ทั้งนี้ ตามญัตติของฝ่ายค้านที่ยื่นไว้ต่อประธานสภาฯ ระบุว่า หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม 

              เปิดแผนฝ่ายค้าน“ซักฟอกรัฐบาล”นายกฯ-3 รมต.ขึ้นเขียง           

ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ รีดนาทาเล้นประชาชน หลักนิติธรรมถูกทำลายโดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ 

ประเด็นอภิปรายรัฐบาล

ขณะที่การอภิปรายของฝ่ายค้าน ได้แบ่งหมวดหมู่เป็น แบ่งหมวดหมู่การอภิปรายคือ 1.ประเด็นศรษฐกิจ 2.การทุจริตคอร์รัปชัน 3.ซีรีส์การเมือง 4.การศึกษา 5.สิ่งแวดล้อม 6.สังคม 

ส่วนเรื่องที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐบาล คาดว่าจะประกอบด้วย 

1.ปม ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกมองว่ามี 2 มาตรฐานเกิดขึ้นกระบวนการยุติธรรมไทย 

2.เรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท ที่มีความล่าช้า 

3.ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้

4.ชนวนขัดแย้งที่ดิน ส.ป.ก. ที่รัฐบาลมีนโยบายแปลงที่ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร

5.กรณีละเลยปราบมาเฟียทั้งใน และนอกประเทศ

6.พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลมีนโยบายจะแก้ปัญหา เพื่อนำทรัพยากร ที่คาดว่าเป็นแหล่งก๊าซ น้ำมัน จำนวนมหาศาล มาแบ่งปันกัน

                 เปิดแผนฝ่ายค้าน“ซักฟอกรัฐบาล”นายกฯ-3 รมต.ขึ้นเขียง

นายกฯ-3รมต.ขึ้นเขียง

สำหรับรัฐมนตรีที่จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงถึง นอกจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง แล้ว  

คนที่อยู่ในข่ายยังจะประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ซึ่งดูแลเรื่องการปราบมาเฟีย และอาจพาดพิงถึง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

ก้าวไกลหวังปรับ ครม.

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการจัดกำลังพลในการอภิปรายรัฐบาลว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล จำนวนผู้อภิปรายอยู่ที่ประมาณ 30 คน 

นายปกรณ์วุฒิ ยังตอบคำถามที่ว่าการอภิปรายแม้จะไม่มีการลงมติ แต่จะสามารถเขย่ารัฐบาลจนปรับ ครม.ได้หรือไม่ ว่า ในบางประเด็นก็คาดหวัง เพราะรัฐมนตรีอาจทำหน้าที่บกพร่อง ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลคงจะหยิบไป 

“อย่างน้อย ๆ นายกฯก็คงจะมีการกำชับรัฐมนตรีบางท่าน ให้ปรับปรุงการทำงาน โดยการปรับ ครม. ก็จะเป็นวิธีการที่ดีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาล บางกระทรวงอาจจะมีผลงานที่ไม่ดี มีข้อครหาใด ๆ การปรับ ครม. ก็เป็นทางออก”

ปชป.วาง 10 คนซักฟอก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.สบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์มีผู้ยื่นความประสงค์อภิปรายรัฐบาล ประมาณ 10 คน ตนเป็นคนหนึ่งในนั้น ซึ่งจะพูดไปตามข้อเท็จจริง และพูดตามเนื้อผ้าจริงๆ เพื่อสะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นว่า มีสิ่งที่จะต้องนำไปแก้ไขอะไรบ้าง 

“ถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านต้องตรวจสอบรัฐบาล จะทำให้ดีที่สุดและสมบูรณ์แบบในฐานะที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล”

ปรับครม.อยู่ที่รัฐบาล

เมื่อถามว่าแม้การอภิปรายจะไม่มีลงมติแต่เนื้อหาจะทำให้ถึงต้องปรับครม.หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยู่ที่รัฐบาลจะรับฟังแค่ไหน เพราะสุดท้ายอยู่ที่ตัวรัฐบาลเองว่าจะบริหารประเทศอย่างไร ฝ่ายค้านทำได้คือ วิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลเห็นว่า มีสิ่งที่จะต้องไปแก้ไข แต่จะแก้หรือไม่แก้ก็อยู่ที่รัฐบาล ส่วนจะปรับหรือไม่ปรับ ครม. ก็อยู่ที่รัฐบาล 

“เท่าที่ผมติดตามฟังการอภิปรายของส.ว.ทำได้ดี และชื่นชมว่าสามารถสะท้อนอะไรได้หลายเรื่องในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ประเมินการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ จากผลสำรวจความเห็นประชาชนก็สะท้อนบางมุมให้เห็นได้ว่าเป็นอย่างไร” นายจุรินทร์ กล่าว

ปชป.อุบพาดพิง“ทักษิณ”

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกำหนดผู้อภิปรายจะเน้นให้คนรุ่นใหม่ได้อภิปรายในครั้งนี้ ซึ่งก็ต้องดูว่ามีประเด็นใดที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปราย และรัฐบาลได้ตอบเพื่อคลายข้อสงสัยของสังคมไปแล้ว ก็ต้องดูว่าควรจะนำประเด็นกลับมาพูดอีกหรือไม่ 

ทั้งนี้พรรคจะเน้นไปที่

1.การทำงานของรัฐบาล ตามที่นายกฯ เคยแถลงไว้แล้วไม่ทำ เราต้องทวงถามให้ประชาชนอยู่แล้ว

2. การที่วันนี้เศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นมา นายกฯ และรัฐบาลจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร

3. เรื่องยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากการแก้ไขกฎกระทรวงจากผู้ที่ถือครองยาเสพติด 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด จากผู้เสพกลายเป็นผู้ป่วย ข่าวคลุ้มคลั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ แค่เม็ดสองเม็ดก็คุ้มคลั่งแล้ว ถ้า 5 เม็ดคงบานปลาย ต้องแก้ที่ต้นเหตุอยากแก้ที่ปลายเหตุ

ขณะที่การอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม จะเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ต้องดูว่าข้อมูลไหนที่ ส.ว. ได้ถามรัฐมนตรีแล้ว ถ้าเรามาถามต่อก็คือเรื่องเดิม ต้องดูว่ารายละเอียดตรงไหนที่ยังไม่ครบถ้วน ค่อยนำประเด็นนี้มาต่อยอดประเด็น แต่ถ้าพูดครบถ้วนแล้วก็ต้องหาประเด็นใหม่ ไม่เช่นนั้นประชาชนที่ฟังจะได้อะไร 

ส่วนจะมีแนวโน้มว่าจะแตะหรือไม่แตะนั้น นายชัยชนะ กล่าวว่า “อย่าพูดแนวโน้มว่าไม่แตะ แต่เรายังไม่ได้บอกว่าจะแตะไม่แตะเรื่องนี้ ทุกอย่างต้องดูข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วถ้าพูดวันนี้ว่าจะแตะ แต่สุดท้ายไม่พูดก็เหมือนหลอก แต่หากเราพูดว่าจะพูด แต่สุดท้ายกลับไม่พูด ก็กลายเป็นการหลอกเหมือนกัน”

เมื่อถามว่าการอภิปรายครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลจนถึงขั้นปรับ ครม.ได้หรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า การปรับ ครม. ขึ้นอยู่กับนายกฯ ต้องยอมรับว่า การเปิดโปรงหลักฐานทั้งหมดอยู่ที่การอภิปราย ม.151 จะตอบก็ได้หรือไม่การอภิปราย ม.152 เป็นแค่การถามตอบ จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ เพราะฉะนั้น การอภิปรายที่แท้จริงคือ เมื่อรัฐบาลได้ใช้งบประมาณไปแล้ว จึงจะมีช่องว่างในการอภิปราย และเอื้อต่อการปรับ ครม.ได้

“เศรษฐา”ไม่ห่วงซักฟอก

ก่อนหน้านั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง เคยให้สัมภาษณ์ถึง การอภิปรายของฝ่ายค้าน ว่า  เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องถาม เพราะถือเป็นตัวแทนของประชาชน และตนเองก็เป็นตัวแทนของประชาชนเช่นกัน เพราะได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ และพยายามทำอย่างเต็มที่ 

“เชื่อมั่นว่า ทุกคนในรัฐบาลตอบคำถามได้ทุกคำถาม เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องตอบ”

ส่วนการกำชับรัฐมนตรีเตรียมตัวตอบคำถามในการอภิปรายนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐมนตรีทุกคนทำงานตัวเป็นเกลียว ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองทำงานอะไร มั่นใจว่าทุกคนจะตอบคำถามได้ดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และยินดีที่จะไปตอบคำถามที่รัฐสภา 

“พร้อมที่จะตอบทุกคำถาม แม้จะมีบางคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องก็พร้อมชี้แจงตามหน้าที่ เพราะเป็นกลไกตามระบบการปกครองที่ฝ่ายบริหาร หากฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อข้องใจ มีความไม่สบายใจ หรือมีอะไรที่รัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจน ก็ถือเป็นเวทีที่การสนทนา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน และสนับสนุนให้ใช้เวทีรัฐสภาในการพูดคุยกันอยู่แล้ว” นายกฯ ระบุ

... 3-4 เม.ย.นี้ มารอดูกันว่า "ฝ่ายค้าน" จะแสดงฝีมือตรวจสอบรัฐบาลเต็มที่หรือไม่