ศาลรธน.ไม่เร่งยุบพรรคก้าวไกลสั่งกกต.ส่งเอกสารที่ไม่ชัดเจนให้ใหม่ใน 7 วัน

20 มี.ค. 2567 | 05:05 น.

ศาลรธน.ไม่เร่ง“ยุบพรรคก้าวไกล”สั่งกกต.ส่งเอกสารบางรายการที่ไม่ชัดเจนให้ใหม่ภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ

วันนี้ (20 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) 

จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

โดยศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า เนื่องจากยังมีเอกสารบางรายการไม่ชัดเจน จึงให้ กกต.ผู้ร้องส่งเอกสารฉบับที่ชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในกำหนดระยะเวลา 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาเรื่องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทําของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้อง) ตามคําแถลงการณ์ของนายชัยเกษม นิติสิริ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีตราพรรค ผู้ถูกร้องอยู่ด้วย มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการกระทําที่อาจนําไปสู่การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะที่ไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ 

นอกจากนี้ ผู้ร้องตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมพบว่า ผู้ถูกร้องยังคงไว้ซึ่งคําแถลงการณ์ของนายชัยเกษม นิติสิริ ในสื่อโซเชียลของผู้ถูกร้องจนถึงปัจจุบัน เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้อง ไม่ปรากฏว่า นายชัยเกษม นิติสิริ ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้เป็นผู้มีอํานาจกระทําการแทนผู้ถูกร้อง

และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องมีความมุ่งหมายหรือการกระทําใด ๆ ที่น่าจะทําให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่ 

ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทน จากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งสําเนาเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกําหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป