ก้าวไกลหนาวทั้งบาง“ยุบพรรค-ตัดสิทธิ” ยกยวง

12 มี.ค. 2567 | 10:13 น.

ก้าวไกลหนาว! ผลพวงจาก กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรธน. "ยุบพรรคก้าวไกล" จากปมแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ส่งผลให้อดีตกก.บห. 26 คน ยุค“พิธา”เป็นหัวหน้าพรรค ยันกก.บห.ชุดปัจจุบัน ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการตัดสิทธิทางการเมืองอย่างยิ่ง : รายงานพิเศษ โดย...ต้นกล้า

มติของที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นเอกฉันท์ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคก้าวไกล จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ กกต. ได้มอบหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือ เลขาธิการ กกต.โดยตำแหน่ง เป็นผู้ยื่นคำร้อง และดำเนินคดีแทน กกต. ตามมาตรา 93 วรรค สอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

 

ก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติดังกล่าว กกต.ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และความเห็นที่สำนักงาน กกต.เสนอว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายเป็นความผิดมาตรา 92 (1) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

มาตรา 92 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น” แต่ไม่มีการกำหนดระวางโทษไว้

ยุบพรรคตัดสิทธิ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม มีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสิทธิทางการเมืองในคดีที่เทียบเคียงกันไว้ก่อนหน้านี้ถึง 10 ปี เป็นบรรทัดฐาน 

ขณะที่การปฏิบัติตามมาตรา 93  ที่กกต.มีมตินั้นกำหนดว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุด ช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้

ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรือ อัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้ 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ชุดที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค รวมจำนวน 26 คน ที่ส่อแววว่าอาจถูกตัดสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วย

1.พิธา หัวหน้าพรรค ในขณะนั้น รองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบด้วย 2.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท 3.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 4.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 5.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 

เลขาและรองเลขาธิการพรรค 11 คน ประกอบด้วย 6.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 7.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน 8.นายเอกภพ เพียรพิเศษ 9.น.ส.วรรณวลี ตะล่อมสิน 10.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 11.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 12.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ 13.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน 14.นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ 15.นายคำพอง เทพาคำ 16.นายรังสิมันต์ โรม 17.นายธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์

18.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 19.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
 20.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา 21.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 22.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 23.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 24.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 25.นายสุเทพ อู่อ้น และ 26.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค

ขณะเดียวกัน หากมีการพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า มีรายชื่อของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล  ที่มีพฤติการณ์ตามคำกล่าวอ้างในสำนวนนับตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ค. 2566 มีรายชื่อ ดังนี้   

1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค

3.นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เป็นเหรัญญิกพรรค

4.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

5.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ

6.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้

7.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลาง

8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก

9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

10.นายสุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน

ทั้งหมดคือ รายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิทางการเมือง นอกเหนือจากคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมในคดีดังกล่าว ซึ่งจะลากยาวมาเชื่อมต่อกับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในชุดปัจจุบันที่ทับซ้อนกันอยู่ราว 8-10 คน

 

ยุบพรรคตามหลอน

หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วนักการเมืองเหล่านี้จะต้องโทษอย่างไร และมีการไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้หรือไม่

คำตอบอยู่ในมาตรา มาตรา 94 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งกำหนดว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

วรรคสอง “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมือง ที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ”

วงล้อทางการเมืองว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทย กำลังตามมาหลอนบรรดานักเลือกตั้งอีกระลอก โปรดติดตามด้วยความระทึกในฤทัย!