อดีตกกต. คาด ศาลรัฐธรรมนูญยุบ "ก้าวไกล" ภายใน 2 เดือน

13 มี.ค. 2567 | 05:10 น.

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. แจงขั้นตอนยื่น "ยุบพรรคก้าวไกล" คาดศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 2 เดือน เชื่อ "กรรมการบริหารพรรค" ส่อถูกตัดสิทธิทางการเมือง  

"ฐานเศรษฐกิจ" เกาะติดความเคลื่อนไหวคดียุบพรรคก้าวไกล หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันมติ กกต.ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567

ล่าสุด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหาว่า กรณีเลวร้ายสุด (Worst case scenario) เมื่อ กกต. ส่งคำร้อง ยุบพรรคก้าวไกล

1. ศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัย ไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากแทบไม่ต้องไต่สวนใหม่ แต่อาจมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมได้

2. คำร้องยุบพรรค เป็นการยุบจากกรณีพรรคการเมืองกระทำความผิด มาตรา 92(1) และ (2) ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง  กระทำการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ฯ ซึ่งนอกจากยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคมีโทษถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย

3. กรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิ คือ กรรมการบริหารตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 20 ที่มีตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรคอื่น ๆ รวม 10 คน (ไม่มีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค)  

4. ส่วนกรณี 44 สส. ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม. 112 นั้นไม่เกี่ยวกับกรณียุบพรรคแต่เป็นการร้อง ป.ป.ช. กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1) ซึ่งหาก ป.ป.ช.ลงมติว่า ผิด ต้องส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลประทับรับฟ้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่  หากศาลว่าผิด มีโทษ ตามมาตรา 235 วรรคสาม  ให้พ้นจากตำแหน่ง สส. ตั้งแต่วันยุติปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตและอาจจะพ่วงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้

5. ขั้นตอนในขั้น ป.ป.ช. ถึง จบศาลฎีกา น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี  และไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอยู่พรรคใหม่ใด ถ้าผิดก็ถือว่าผิด