“หมอมิ้ง” โชว์ผลงานรัฐบาล 6 เดือน ทำเพียบ เร่งดันดิจิทัลวอลเล็ต สุดตัว

12 มี.ค. 2567 | 04:52 น.

“หมอมิ้ง” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โชว์ผลงานรัฐบาล 6 เดือน “เศรษฐา” ดันออกมาสารพัดเรื่อง ทั้งเรื่องราคาพลังงาน สาธารณสุข การเกษตร การท่องเที่ยว พร้อมเร่งดันเงินดิจิทัลวอลเล็ต สุดตัว

วันนี้ (12 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลงานรัฐบาล 6 เดือน ว่า รัฐบาลมีผลงานตั้งแต่วันแรกที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาทำงาน ทั้งเรื่องราคาพลังงาน สาธารณสุข การเกษตร การท่องเที่ยว รวมทั้งยังวางแผนในระยะยาวด้วย

ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวหานายกรัฐมนตรีเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศว่าไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม นพ.พรหมินทร์ ระบุว่า สว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้ง อาจจะมองไม่รอบด้าน เพราะผลงานในประเทศตั้งแต่วันแรกที่นายกรัฐมนตรีเข้ามามีการดำเนินการลดราคาพลังงาน เช่นค่าไฟฟ้า รวมถึงการพักหนี้เกษตรกร 

“อาจจะเป็นเพราะว่าเราเร่งทำงานจนคนนึกว่าเรื่องเหล่านี้เราได้มาง่าย ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลใช้ความพยายาม และเรายังมองถึงการปรับโครงสร้างพลังงานในช่วงต่อไปด้วย” นพ.พรหมินทร์ ระบุ

เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า การเดินทางไปต่างประเทศ ถ้ามองเป็นจุด ๆ แบบแคบ ๆ และคอยหาแต่เรื่องจับผิด มันก็จะหาเจออยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามองเป็นการบริหารแบบยุทธศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกัน การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้คนรู้จัก และทำให้เกิดการติดต่อค้าขายค้าขายมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้เพราะความมั่นใจคือพื้นฐานของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และอย่าลืมว่างบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่ผ่านสภาฯ ซึ่งรัฐบาลใช้การบริหารจัดการทั้งหมดทั้งสิ้น ผลลัพธ์คือทำให้ สร้างรายได้ และเพิ่มโอกาสอย่างมากมาย เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยว ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ก็เพิ่มมาอีก 50% จึงอยากถามว่านี่ไม่ใช่ความพยายามที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯใช่หรือไม่ 

“ยกตัวอย่าง ผ้าพันคอ และกระเป๋าที่นายกฯ ใช้ไปเยือนต่างไม่ใช่ประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ หากจำกันได้ยังมีผ้าพันคอ LOUIS VUITTON  ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าโพกหัวของชาวตะวันออกกลาง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจากปรากฏผลในอนาคต” เลขาธิการนายกฯ กล่าว

ส่วนในเรื่องอื่น ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนไปแล้วถึงล้านราย รวมถึงการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ 30 บาทพลัส ซึ่งเมื่อช่วงแรกมีการนำร่องใน 4 จังหวัด และปัจจุบันเพิ่มอีก 8 จังหวัดเป็น 12 จังหวัด

ขณะที่เรื่องของพืชผลทางการเกษตรโดยรวมแล้วเราปรับขึ้นไป 40% ยืนยันว่าทุกอย่างไม่ฟลุ๊ค แต่เกิดจากการบริหารจัดการทั้งสิ้น โดยเฉพาะราคายางพาราที่ขึ้นจากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 80 บาท ถือเป็นการจัดการ ทั้งการหาตลาด และการป้องกันการนำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมไปถึงราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นสูงด้วย

ส่วนนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยืนยันว่า รัฐบาลยังติดเกาะกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ยังไม่สามารถทำได้ แต่จะพยายามฝ่าฟันและดำเนินการอย่างเต็มที่ และในระยะยาว รัฐบาลยังหาทางดึงดูดนักลงทุนต่าง ๆ จะเข้ามาในประเทศผ่านการปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ ให้เกิดความสะดวกต่อนักลงทุน รวมทั้งการสร้างอีเวนต์สำคัญในประเทศ ล่าสุดมีประมาณ 3-4 รายที่กำลังเจรจากันอยู่