นายอำเภอย้ำ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ชี้ชัด“เกาะกูด”เป็นของไทย

07 มี.ค. 2567 | 07:33 น.

นายอำเภอเกาะกูด ยันมีหลักฐานชัด “เกาะกูด”เป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ชี้คนเกาะกูดไม่กังวลกระแสจากกัมพูชา และไม่เคลื่อนไหวตอบโต้ หวั่นกระทบท่องเที่ยว

กรณีที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยฝั่งกัมพูชาระบุว่า เกาะกูดเป็นของกัมพูชาส่วนหนึ่ง รวมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วนนั้น 

นายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นนายอำเภอเกาะกูด ได้ประชุมกับชาวเกาะกูด และได้ชี้แจง รวมทั้งทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวเกาะกูดถึงเรื่องนี้มาแล้ว และชาวเกาะกูดก็ไม่ได้สนใจในข่าวสารที่เกิดขึ้น และไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหรือกังวลใดๆในเรื่องนี้ เพราะทราบเป็นอย่างดีว่า เกาะกูดไม่ใช่ของกัมพูชา และไม่มีหลักฐานหรือสื่อใดๆที่ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของกัมพูชา  แต่ในทางปกครองทางอำเภอเกาะกูดต้องดูแลความมั่นคงตามหน้าที่ และดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยในพื้นที่เกาะกูดตามปกติ
 

“ผมไม่อยากจะให้สื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ไปมากกว่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีหลักฐานยืนยันตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 หรือ พ.ศ. 2450 ระบุชัดเจนว่า เกาะกูดเป็นของไทย และชาวเกาะกูด และผู้นำในเกาะกูดก็ไม่สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือต้องการเคลื่อนไหวใดๆเพื่อตอบโต้เรื่องนี้ แต่บันทึกข้อตกลง หรือ MOU 2544 นั้น ผมพูดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเกาะกูดที่กำลังเติบโตด้วย” นายอำเภอเกาะกูด กล่าว

นายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

ขณะที่นายสมเกียรติ สมรรถการ นายกสมาคมอนุรักษ์และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดตราด และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เกาะกูดเป็นเกาะของไทย(ทั้งเกาะ) ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ขณะนั้นกัมพูชาเป็นของฝรั่งเศส

 

โดยฝ่ายกัมพูชามิได้โต้แย้งสิทธิของไทย แต่ก็ไม่ยอมให้เกิดผลกระทบต่อเกาะกูดในอันที่จะใช้เป็นเส้นฐานในการวัดความกว้างของอาณาเขตทางทะเลของไทยในส่วนที่ประชิดกับอาณาเขตทางทะเลของกัมพูชา ซึ่งสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เป็นภาษาที่ใช้ในการตีความกรณีที่เกิดปัญหาในการปรับใช้ ทำให้กัมพูชาทึกทักว่าเส้นที่ลากจากปลายแหลมไปยังยอดเขาสูงของเกาะกูดเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตทางทะเล ด้วย

 

นายสมเกียรติ  กล่าวอีกว่า  ในความเป็นจริงตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เส้นเขตแดนทางบกส่วนที่ล้ำเข้าไปในทะเลมุ่งยังเกาะกูดเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าแนวดังกล่าวมีไว้เพื่อระบุ(identify) จุดสุดท้ายของเส้นเขตแดน/ทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ บริเวณที่สิ้นสุดลงตรงฝั่งทะเลของประเทศทั้งสองจะอยู่ที่จุด ซึ่งหากลากเส้นตั้งฉากบนฝั่งแล้ว เส้นตั้งฉากนั้นจะอยู่ตรงกลางของเกาะกูด

นายสมเกียรติ สมรรถการ นายกสมาคมอนุรักษ์และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดตราด

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถือเอากลางเกาะกูดเป็นเพียง "จุดเล็ง" ในลักษณะเป็น “landmark”  ที่มีลักษณะถาวร ซึ่งจะทำให้สังเกตุเห็นได้แต่ไกลด้วยตาเปล่า ว่าจุดสุดท้ายของเส้นเขตแดนทางบกระหว่างประเทศทั้งสองตรงฝั่งทะเลควรอยู่ ณ ที่ใด ดังนั้นเส้นตรงที่เล็งระหว่างยอดเขาสูงสุดของเกาะกูดถึงสันเทพพนมกระวาน ต้องถือว่าเป็นเส้นสมมติ (imaginary line) ใช้สำหรับกำหนดจุดเริ่มต้นของแนวเขตทางบก มิใช่ “เส้นแบ่งเขตทางทะเล”แต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องเขตแดนทับซ้อนทางบก หรืออธิปไตยเหนือเกาะกูดของไทย

ขณะเดียวกันอาณาเขตทางทะเลก็ยังไม่เกิดกรณีทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะยังไม่มีการยอมรับแนวเส้นอาณาเขตทางทะเลของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ( Exclusive Economic Zone ) หรือ EEZ ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการประมง และทรัพยากรใต้ท้องทะเลมหาศาล ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับการเจรจา ที่จะให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้สูงสุด ไม่ใช่เพราะใคร หรือกลุ่มใครได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ เพราะวันนี้ยังไม่มีใครถูก ใครผิด